เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ลักษณะของเบี้ยเป็นหอยชนิดหนึ่งที่มีหลังนูน ท้องเป็นร่อง มีเปลือกแข็ง สมัยก่อนเรียกกันว่า เบี้ยพู เมื่อนำมาประกอบพิธีปลุกเสกด้วยพระเวทอาคมตามตำราของพระเกจิอาจารย์เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังสำหรับกันแก้และป้องกันภัยอันตรายต่างๆ เบี้ยที่ผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว ได้รับการเรียกขานว่า "เบี้ยแก้"
เบี้ยแก้ ประกอบด้วยส่วนต่างๆที่สำคัญ 4 อย่างด้วยกันคือ "ตัวหอยเบี้ย ปรอท ชันโรงใต้ดิน และแผ่นตะกั่วนม" ขั้นตอนพิธีการทำเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดนั้น ท่านจะจัดพานดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นจึงบรรจุปรอทลงในปากตัวเบี้ย แล้วนำชันโรงใต้ดินมาปิดไล้ที่ปากตัวเบี้ยจนเต็ม เมื่อปิดเรียบร้อยแล้วจึงใช้แผ่นตะกั่วนม (แผ่นตะกั่วที่มีความนิ่มอ่อนตัว) หุ้มห่อตัวเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง การหุ้มแผ่นตะกั่วนมไม่ได้หุ้มห่อตลอดทั้งตัวเบี้ยแต่จะเปิดหลังเบี้ยเอาไว้ แล้วใช้ด้ามเหล็กจารบุบ และรีดแผ่นตะกั่วให้เรียบร้อย เมื่อประกอบตัวเบี้ยเสร็จแล้ว หลวงปู่รอดก็จะเริ่มพิธีลงอักขระยันต์ด้วยเหล็กจารบนแผ่นตะกั่วที่หุ้มตัวเบี้ย ท่านจะจารจนครบสูตรของท่านแล้วจึงทำพิธีปลุกเสกด้วยพระเวทอาคมอีกครั้งหนึ่ง การขอรับบูชาเบี้ยแก้หลวงปู่รอดจะนำใส่พานแล้วประสิทธิประสาทให้ผู้รับอีกครั้ง
หลวงปู่รอดจำพรรษาอยู่ที่วัดนายโรงจนกระทั่งมรณภาพ และที่วัดนายโรงนี่เองที่ท่านได้สร้าง "เบี้ยแก้" อันทรงพุทธานุภาพอย่างเข้มขลัง กล่าวกันว่า พุทธคุณของเบี้ยแก้ใช้สำหรับกันแก้สิ่งอันเป็นเสนียดเลวร้ายต่างๆ ทั้งจากการกระทำด้วยอาคม ภูตผีปีศาจและคุณไสย ใช้ป้องกันภยันตรายต่างๆ แม้แต่ในเวลาเดินป่าหากมีเบี้ยแก้หลวงปู่รอดติดตัวไปด้วย ก็จะรอดปลอดภัยในทุกสถานการณ์
ลักษณะเบี้ยแก้หลวงปู่รอด สรุปเป็นข้อสังเกตได้ดังนี้
1. ขนาดของตัวเบี้ยต้องไม่ใหญ่จนเกินไป มีขนาดยาวประมาณ 3.5 ซม. กว้างประมาณ 2.5 ซม.
2. เบี้ยแก้ที่ไม่มีด้ายถักหุ้ม จะเห็นชันโรงปิดที่ปากเบี้ย ชันโรงต้องติดแน่นและมีความแห้งเก่าอยู่มาก
3. หากนำเบี้ยแก้ลองเขย่าดู จะมีเสียงคลอนเบาๆ เป็นเสียงปรอทที่บรรจุอยู่ข้างในตัวเบี้ย
4. เบี้ยแก้หลวงปู่รอดทุกตัวต้องหุ้มด้วยตะกั่วนม การหุ้มมีความประณีตเรียบร้อย และให้สังเกตความเก่าของแผ่นตะกั่วด้วย
5. รอยจารอักขระเป็นลายมือที่ลอกเลียนได้ยาก การสังเกตเส้นจารอักขระต้องมีความเรียบร้อยและเป็นรอยจารเก่า หากแว่นขยายส่องดูในช่องเส้นจะเห็นผิวในร่องเส้นมีความเก่าเท่ากับ ผิวนอก ถ้าร่องเส้นจารมีความใหม่วาวกว่าผิวทั่วไปจะเป็นการจารในชั้นหลัง
6. เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดส่วนใหญ่มีด้ายถักหุ้มทับไว้ มีทั้งแบบถักหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย ด้ายที่ถักปิดส่วนมากทาทับด้วยยางลูกมะพลับหรือยางหมาก ยางที่ทาไว้มีลักษณะที่ แห้งและเก่ามาก มีสีน้ำตาลเข้มเจือแดง เส้นด้ายที่ถักมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูหนาแน่นและไม่ขาดง่าย
การถักด้ายหุ้มเบี้ยแก้หลวงปู่รอด ส่วนใหญ่เป็นฝีมือถักของหลวงลุงชมแห่งสำนักวัดนายโรงนั่นเอง ในสมัยนั้นฝีมือถักของหลวงลุงชมขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและความละเอียดประณีต ท่านจะถักให้กับทุกคนโดยไม่คิดค่าตอบแทน ลายที่ถักเป็นลายถี่ละเอียดมีความเรียบร้อยและหนาแน่น เบี้ยบางตัวถักให้มีหูเดียว บางตีวมีสองหรือสามหู สำหรับใช้ร้อยเชือกแขวนควาดกับเอว หรือคล้องคอ
|