Copyright 2015

 
 

 
 
New Page 1
   ทำเนียบวัตถุมงคลทั้งหมด
   วัตถุมงคลมาใหม่ 
   (ของเก่า ของสะสม) 
   วัตถุมงคลมาใหม่
   (ของใหม่) 
** แนะนำวัตถุมงคล ** 

หมวดครูกายแก้ว

   องค์บูชา
   วัตถุมงคล
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดย อ.สุชาติ รัตนสุข

   เทพเทวะ (องค์บูชา)
   เทพเทวะ (วัตถุมงคล)
   ฤาษี  มหาฤาษี
   เครื่องราง ของขลัง
   เครื่องประดับ
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดย เกจิอาจารย์ชื่อดัง

   พระกริ่ง
   พระกรุ
   ผ้ายันต์
   108 เกจิอาจารย์ดัง ยุคอินโดจีน
   พระแชมป์
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดยเทวสถานอื่นๆ

   อื่นๆ
[เว็บอัพเดทเมื่อ: 31/12/2567]
 
Flag Counter
 
 

 

ตำนานพระฤๅษี

  เมื่อ:  11/27/2015 6:17:22 PM    เปิดอ่าน: 1,660   
 
 
ฤๅษี : สื่อกลางระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์
 

          ความหมายของฤๅษีที่แปลว่า “ผู้เห็น” หรือผู้หยั่งรู้ เป็นที่เข้าใจกันในสมัยที่เริ่มแต่งคัมภีร์ฤคเวทเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เพราะฤๅษีในยุคโบราณเมื่อ ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้ช่วยกันแต่งบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าขึ้น

                ได้ฝึกฝนตนจนบรรลุทิพยอำนาจชั้นสูงหรือฌานสมาบัติอันมีความพิเศษเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา สามารถมองเห็นในมิติที่มนุษย์ปุถุชนไม่สามารถมองเห็นได้ สามารถได้ยินเสียงอันเป็นทิพย์จากมิติอื่นที่มนุษย์ทั่วไปยากจะได้ยิน ขณะเมื่อฤๅษีเข้าสมาธิสูงสุดเพื่อติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า ฤๅษีเหล่านั้นย่อมบังเกิดภาพนิมิตและเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ตามที่พระผู้เป็นเจ้ามีพระประสงค์ให้ฤๅษีรับรู้

                เมื่อฤๅษียุคแรกๆ ได้รับภาพนิมิตและข้อความต่างๆ อันเป็นทิพย์ จึงได้เรียบเรียงแต่งขึ้นเป็นบทสวด บทสรรเสริญเทพเจ้าต่างๆ ถ้อยคำเหล่านั้นมิได้เป็นการคิดขึ้นเอง หากแต่เป็นถ้อยคำโดยตรงที่พระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งองค์ใดประทานมาให้ทางฌานสมาธิ   

                ในลักษณะดังกล่าวมานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้อาศัยฤๅษีเป็นสื่อกลางสำหรับถ่ายทอดบทสวดสรรเสริญและความรู้ต่างๆ จากเบื้องบนมาสู่โลกมนุษย์ เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าต้องการสื่อให้มวลมนุษย์ทราบว่า เบื้องบนสวรรค์มีภพภูมิที่ละเอียดซับซ้อนและประณีตกว่าโลกมนุษย์เพียงใด และต้องการให้มนุษย์ทราบวิธีการที่จะเข้าถึงพระองค์หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ได้

                พระผู้เป็นเจ้าจึงอาศัยไหว้วานพระฤๅษีที่สามารถเชื่อมต่อจิตกับพระองค์ได้มาเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสอน บทสรรเสริญ บทสวด มนตรา ให้มนุษย์นำไปปฏิบัติ จนกลายมาเป็นลัทธิศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีผู้นับถือมากมายทั่วโลกในทุกวันนี้

                ฤๅษีจึงเปรียบเสมือนผู้ค้นคว้าและแสวงหาปัญญาความรู้ โดยนำสิ่งที่ได้มาจัดระบบระเบียบ ก่อนนำมาสอนผู้อื่น ซึ่งทางไทยเรานิยมเรียกฤๅษีที่ริเริ่มสอนวิชาการแก่บุคคลอื่นนี้ว่า “ครูต้น

ตำนานพระฤๅษียุคแรก

บางตำราว่ามีแค่ ๗ ตน เรียกกันว่า สัปตฤๅษี หรือมานัสบุตร (บุตรที่เกิดจากดวงหทัยของพระพรหม) คนไทยนิยมเรียกว่า ฤๅษี ๗ ตน

                พระผู้เป็นเจ้า หรือพระพรหมได้สร้างฤๅษี ๗ ตนขึ้นมา ถือว่าเป็นครูสำคัญมีปรากฏบนท้องฟ้าเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ ๗ ดวง มีรายนามดังนี้

  1. พระฤๅษีโคตรมะ
  2. พระฤๅษีภรัทวาช
  3. พระฤาษี วิศวามิตร
  4. พระฤๅษีชมทัคนิ
  5. พระฤาษีวสิษฐ์
  6. พระฤๅษีกัศยปะ (บางตำราว่า ฤาษีอคัสตยะ)
  7. พระฤๅษีอัตริ

ส่วนคัมภีร์มหาภารตะระบุไว้ว่ามีดังนี้

  1. พระฤๅษีมรีจิ
  2. พระฤาษีอัตริ
  3. พระฤๅษีอังคีรส
  4. พระฤๅษีปุลหะ
  5. พระฤๅษีกะระตุ
  6. พระฤๅษีปุลัสตยะ
  7. พระฤๅษีวสิษฐ์

ส่วนคัมภีร์วายุปุราณะ ได้เติม พระฤๅษีภฤคุ อีก ๑ ตน แต่ยังเรียกรวมว่า สัปฤๅษี

ส่วนคัมภีร์วิษณุปุราณะ เพิ่มอีก ๒ ตน คือ พระฤๅษีภฤคุ กับ พระฤๅษีทักษะ เรียกแปลกออกไปอีกว่า พรหมฤๅษีทั้งเก้า

ฤๅษีหรือนักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

แบ่งออกเป็น ๙ ประเภท

  1. สิทธา
  2. โยคี
  3. ดาบส
  4. ฤๅษี
  5. มุนี
  6. ชฎิล
  7. นักสิทธิ์
  8. นักพรต
  9. พราหมณ์

นักบวชทุกประเภทที่กล่าวมาล้วนเป็น “ผู้ทรงศีล” ที่มุ่งหวังหลุดพ้น มุ่งหวังบำเพ็ญตบะเพื่อขัดเกลาหรือข่มกิเลสแนวทางของตน ยินยอมสละทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เรียกว่า โมกษะ หรือโมกขธรรรม

๑. สิทธา คือ นักบวชผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ ผู้ฝึกวิชาพระเวทจนสามารถล่วงรู้ว่านรก-สวรรค์มีจริง สามารถติดต่อเทวดาและดวงวิญญาณทั้งหลายได้ สถิตอยู่บนเทือกเขาและในถ้ำ

๒. โยคี คือ ผู้ศึกษาหรือผู้สำเร็จในสังโยค (โยคะศาสตร์ ศาสตร์แห่งการควบคุมร่างกายและจิตใจ) เที่ยวบำเพ็ญตบะอยู่ตามเทือกเขาและป่าดงพงไพร

๓. ดาบส คือ ผู้บำเพ็ญตนสร้างบารมี มุ่งมั่นในตบะธรรมเพื่อเผาผลาญกองกิเลส และได้บรรลุโลกียสุขขั้นสูง

๔. ฤๅษี คือ ผู้ผ่านการบำเพ็ญฌานใน ๓ ขั้นตอนแรกแล้ว (สิทธา-โยคี-ดาบส) จากนั้นได้นำเอาอำนาจฌานที่ได้นั้นมาทำการบูชาศาสดาที่ตนนับถือ เพื่อจะได้พรอันประเสริฐจากพระผู้เป็นเจ้า เมื่อพระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาประทานพรหรือฤทธิ์อำนาจให้แก่ฤๅษีที่ทำการบูชาแล้ว ได้เอื้อนเอ่ยนามของฤๅษีนั้นให้ได้ยินไปทั้ง ๓ โลก จึงจะสำเร็จการเป็นพระฤๅษีได้อย่างแท้จริง การเอ่ยนาม เทียบได้กับการตั้งชื่อให้ฤๅษีตนนั้นๆ

๕. มุนี คือ พระฤๅษีที่บำเพ็ญตบะด้วยความพากเพียรพยายาม ผ่านมาทั้ง ๔ ขั้นตอนแล้ว (สิทธา-โยคี-ดาบส-ฤๅษี) จนกระทั่งพบความสำเร็จ จึงกลายเป็นผู้มีปัญญาและมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับสูง ทั้งยังบำเพ็ญและประกอบพิธีกรรมต่างๆ ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทานพร จนกลายเป็นถึงบรมครู (คุรุ)

๖. ชฎิล คือ นักบวชจำพวกหนึ่งที่ชอบเกล้ามุ่นมวยผมเป็นแบบชฎา มีหนวดเครารกรุงรัง ทั้งผ้านุ่งห่มก็รุ่มร่าม เหตุผลก็เพื่อขจัดออกเสียซึ่งความสวยงามภายนอก บำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร

๗. นักสิทธิ์ แปลว่า ผู้ทรงศีลกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ นิยมรักษาสัจจวาจา มีความเที่ยงธรรมเป็นที่ตั้ง ชอบช่วยเหลือมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ สถิตอยู่ตรงกลางระหว่างที่ว่างเปล่าและบริสุทธิ์ วัดระยะตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลงมาจนกระทั่งถึงผืนโลก มีอยู่มากมายหลายแสนตน เที่ยวตระเวนไปในที่ต่างๆ เพื่อสอดส่องหาหนทางลงมาช่วยเหลือมวลมนุษย์

๘. นักพรต หมายถึง ผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญพรตอย่างยิ่งยวด เป็นผู้ทรงศีลอันประเสริฐ ตั้งใจบำเพ็ญเพื่อเสริมสร้างบารมีให้สูงขึ้น มักเร้นกายสถิตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรและตามเถื่อนถ้ำ ไม่ค่อยให้ผู้ใดได้พบเห็นนัก มีความเป็นอยู่เรียบง่าย แต่มีอิทธิฤทธิ์มาก

๙.พราหมณ์ แปลว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพรหม ชอบฝักใฝ่ในธรรมและร่ำเรียนพระเวท มุ่งช่วยเหลือมนุษย์และสรรพสัตว์ทั่วไป มักจะรวมกลุ่มกันเป็นหมู่คณะด้วยความพร้อมเพรียงอยู่ตามเทวสถานต่างๆ บ้างก็ละวางและอยู่อย่างสันโดษในสำนักของตน เมื่อมีผู้ใดเชิญให้ไปช่วยกระทำพิธีอันเกี่ยวกับศาสนาหรือองค์เทพต่างๆ พราหมณ์ก็จะออกไปทำพิธีให้ด้วยความรู้ที่ได้รับสืบทอดกันมาในวรรณะพราหมณ์ของตน เมื่อเสร็จสิ้นจากศาสนกิจแล้วก็จะบำเพ็ญศีลภาวนาต่อไป

บางคัมภีร์ได้จัดแบ่งฤๅษีไว้ ๖ ลำดับขั้น

  1. มหาฤๅษี ทรงอิทธิฤทธิ์บารมีและทรงภูมิปัญญาสูงสุด แก่กล้าพระเวทวิทยาคมมาก ได้แก่ ฤๅษีอิศวร, ฤๅษีนารายณ์, ฤๅษีพิฆเนศวร
  2. พรหมฤๅษี เมื่อบำเพ็ญตบะสูงสุดแล้วได้ไปบังเกิดเป็นพระพรหม จึงเรียกว่าพระพรหมฤๅษีหรือฤๅษีชั้นพรหม ทรงอิทธิฤทธิ์บารมีมากมาย เช่น ฤๅษีพรหมบุตร, ฤๅษีพรหมปรเมศ, ฤๅษีพรหมประสิทธิ์ หรือฤๅษีที่ขึ้นต้นว่า พรหม
  3. เทพฤๅษี ทรงอิทธิฤทธิ์บารมีสูงส่ง เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ ฤๅษีเพชรฉลูกัณฑ์, ฤๅษีปัญจสิงขร, ฤๅษีตาวัว, ฤๅษีบรมโกฏิ, ฤาษีกไลยโกฏ, ฤๅษีนเรศ ฯลฯ
  4. ราชฤๅษี ฤๅษีระดับเจ้าฤๅษี หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ บำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัดได้แก่ ฤๅษีสัตยพรต, ฤๅษีชนกจักรวรรดิ ฯลฯ
  5. นรฤๅษี (มนุษย์ฤๅษี) เป็นฤๅษีชั้นมนุษย์ บำเพ็ญบารมีตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ได้แก่ ฤๅษีโกเมท, ฤๅษีลูกประคำ, ฤๅษีโคตบุตร, ฤๅษีโคตรมะ ฯลฯ
  6. อสูรฤๅษี (กึ่งยักษ์กึ่งฤๅษี) ฤๅษีพระพิราพ, ฤๅษีพิรอด,ฤๅษีท้าวหิรัญพนาสูร, ฤๅษีอนันตยักษ์, ฤๅษีท้าวหิรัญยักษ์ ฯลฯ

อีกคัมภีร์หนึ่งได้แบ่งฤๅษีออกเป็น  ๖ ลำดับขั้นเช่นเดียวกัน

  1. พรหมฤๅษี, พรหมรรษี (Brahma Rishi)

หมายถึง ฤๅษีที่สืบเชื้อสายจากพรหม ถ้าตีความหมายเชิงจิตวิญญาณจะหมายความว่าเป็นฤๅษีที่เป็นพรหมลงมาเกิด หรือเกิดจากการแบ่งภาคของพรหมลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ หรือหมายถึงพรหมฤๅษีที่อยู่ในแดนพรหมอันเป็นทิพย์ จะเกิดกับฤๅษีในแดนมนุษย์ที่เข้าฌานสมาบัติได้เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ฤๅษีที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์อันถือว่าเป็นวรรณะสูงสุดและเป็นผู้บำเพ็ญตบะอย่างยิ่งยวดเหนือฤๅษีทั้งหลาย ทั้งนี้ผู้เข้าถึงความเป็นพรหมได้ ต้องได้ญาณตั้งแต่ปฐมฌาน เป็นต้นไป และจะเป็นพรหมชั้นสูงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกำลังของฌานสมาบัติของตนที่ทำไว้

ที่สำคัญคือ ยามเมื่อละสังขารต้องสิ้นใจในฌานสมาบัติที่ตนทำ เมื่อจากโลกนี้ก็ไปบังเกิดเป็นพรหมฤๅษีตามกำลังแห่งฌานที่ตนได้บำเพ็ญมา

ฤๅษีในกลุ่มแรกนี้ที่ปรากฏรายนามในวรรณคดีกาพย์และปุราณะ คือ อรรวาวสุ, อัษฎาวักร, อัตริ, เอารวล, ภัทรวาช, ภฤคุ, จยวน, ศุก, ทธีจ, มทน, เทวศรรมัน, เคาตม (ไทยเรียกโคตม), ชาชลิลล, กาศยป, กฤป, ลิขิต, โลมส, มังกนก, มารกัณเฑย, นารท (ไทยเรียกนารอท), ปุลัสตย, ฤจีก, ไวศัมปาน (ผู้สวดมหาภารตะจบบริบูรณ์เป็นคนแรก), วสิษฐ์, วิศวามิตร (เป็นคนเดียวในโลกที่สามารถแปลงวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะพราหมณ์ได้สำเร็จโดยบำเพ็ญตบะอย่างสูงสุด ในรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เรียกว่า ฤๅษีสวามิตร) และตนสุดท้ายคือ ฤๅษีวยาสะผู้แต่งกาพย์ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก  คือ กาพย์มหาภารตะ ซึ่งมีความยาวถึง ๑ แสนโศก

สำหรับเรื่องกำลังฌานที่สามารถพาให้ไปอุบัติเกิดเป็นพรหม หรือผู้ที่ได้ในชีวิตนี้ก็เรียกว่าเป็นพรหมในร่างมนุษย์ โดยลำดับฌานดังต่อไปนี้คือ

ฌานชั้นต้นเรียก ปฐมฌาน มีวิตกวิจารเป็นอารมณ์ หมายถึงการคำนึงนึกถึงแต่คำภาวนาเท่านั้น

ฌานชั้นที่สองเรียกว่า ทุติยฌาน หมายถึงสภาวะจิตที่ได้ปิติจากความสงบเบื้องต้น ปิตินี้มีอาการออกมาทางกายหลายประการ แบ่งเป็นห้าอย่างหลัก แต่สามารถจำแนก แยกย่อยได้มากมายหลายอาการ อาการทั้ง ๕ ประการหลักๆ มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ปิติทั้ง ๕ ได้แก่

ขณิกาปิติ หมายถึง การเห็นนิมิตเป็นแสงไฟแลบ คล้ายฟ้าแลบ

ขุททกาปิติ หมายถึง ปิติที่มีอาการสะอื้นร้องไห้

อุเพ็งคาปิติ หมายถึง ปิติที่มีอาการตัวสั่นไปมา

โอกกันติกาปิติ หมายถึง ปิติที่มีอาการตัวโยกโคลงไปมา

ผรณาปิติ หมายถึง ปิติที่มีอาการขนลุกสะท้านไปทั้งตัว

ฌานชั้นที่สามเรียกว่า ตติฌาน ชั้นนี้ผู้ที่เข้าถึงจะมีอาการสุขในสมาธิ อิ่มเอิบอย่างบอกไม่ถูก สามารถผ่านปิติในชั้นดังกล่าวเข้าสู่ความสุขอันละเอียดอ่อนกว่าเดิม

ฌานชั้นที่สี่เรียกว่า จตุตฌาน ชั้นนี้เป็นฌานระดับลึก ลมหายใจจะละเอียดจนเหมือนว่าหยุดหายใจ อาการทางกายหรือความรู้สึกทางกายจะหายไป

     2. เทพฤๅษี, เทวรรษี (Deva Rishi)

จัดว่าเป็นฤๅษีที่มีฐานะสูงสุดโดยชาติกำเนิด กล่าวคือ เป็นเทพมาแต่กำเนิดแล้วบำเพ็ญพรตถือเพศเป็นฤๅษีภายหลัง เพื่อสร้างตบะเดชะให้ยิ่งยวดขึ้นไป ฤๅษีกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษคือ เป็นกลุ่มโอปาติกะผุดเกิดขึ้นเป็นเทพบนชั้นฟ้า ในอีกนัยหนึ่งหมายถึง ฤๅษีที่มีคุณธรรมเข้าสู่ขั้นเทวะด้วยอำนาจศีลสมาธิปัญญาของตน

การบำเพ็ญพรตเพื่อให้เกิดตบะเดชะยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะแม้แต่พระผู้เป็นเจ้า เช่น พระอิศวรหรือพระศิวะนั้นยังมีปางที่เป็นฤๅษี ในขณะเดียวกันคติของไศวะนิกายก็ถือว่า พระศิวะเป็นบรมโยคีที่อยู่เหนือโยคีทั้งหลาย เหล่าฤๅษีโยคีทั้งปวงย่อมมุ่งจิตของตนไปที่พระศิวะเพื่อความหลุดพ้น

เทพฤๅษีหรือเทพเจ้าผู้ทรงเพศฤาศี มีจริยาวัตรเป็นฤๅษีองค์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบเป็นหลักฐานนอกจากจะมีพระศิวะแล้ว ก็มีพระพฤหัสบดี หรือพรหมณัสปติ ซึ่งมีกล่าวถึงในคัมภีร์ฤคเวทว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งมนต์อันประเสริฐ และดำรงตำแหน่งเทวปุโรหิตของทวยเทพทั้งหลายคู่กับพระอัคนี (เทพแห่งไฟ) แต่เมื่อมาสู่ระยะหลังพระพฤหัสได้กลายมาเป็นเทพฤๅษีอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่พระอัคนียังเป็นเทวปุโรหิตตามเดิม

นอกจากพระพฤหัสซึ่งเป็นเทพฤๅษีที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพมากที่สุดพระองค์หนึ่งแล้ว ยังมีเทพฤๅษีอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับความเคารพไม่ด้อยไปกว่ากันคือ พระศุกร์ หรืออุศนัศ หรืออีกนามหนึ่งว่า กวิ กล่าวว่า หลังจากสมัยพระเวท พระพฤหัสได้รับการยกย่องว่าเป็นคุรุเทพแห่งทวยเทพเทวาทั้งหลายในชั้นฟ้า ในขณะที่พระศุกร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นคุรุเทพแห่งบรรดาอสูร ยักษ์ แทตย์ และทานพทั้งหลาย อันเป็นฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่ปรปักษ์แห่งทวยเทพทั้งปวง พระศุกร์มีความสามารถพิเศษคือ เป็นผู้รู้มนต์ที่สามารถชุบชีวิตผู้ที่ตายแล้วให้ฟื้นขึ้นมา มนต์บทนี้มีชื่อว่า “สัญชีวินี” ในตำนานกล่าวว่าพระศุกร์ใช้มนต์บทนี้ชุบชีวิตอสูรทั้งปวงให้กลับมีชีวิตเพื่อสู้รบกับบรรดาเหล่าเทพทั้งหลาย กลายเป็นสงครามไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้พระศุกร์จึงเป็นคุรุเทพ เป็นเทพฤๅษีที่บรรดาเทวะทั้งหลายให้ความเกรงกลัวเป็นที่สุดพระองค์หนึ่ง

     3. ราชฤๅษี, ราชรรษี (Raja Rishi)

หมายถึงพระราชาที่สละราชสมบัติออกบวชเป็นฤๅษี จะโดยชั่วคราวหรือตลอดชีวิตก็ตาม เช่น พระชนก (บิดาของสีดา) รวมถึงพระราม พระลักษณ์ และพระวิศวามิตร ฯลฯ ในตำนานของพระพุทธศาสนาตอนที่พระเวสสันดรออกบวชเป็นฤๅษีในเขาวงกตก็ถูกจัดว่าเป็นราชฤๅษีเช่นกัน คำว่าราชฤๅษีบางทีอาจใช้เป็นคำเรียกพระเจ้าแผ่นดินที่มีเดชานุภาพแม้มิได้ออกบวชเป็นฤๅษีก็ได้ อย่างเช่น ท้าวทุษยันต์ กษัตริย์จันทรวงศ์ สังเกตได้ว่าคำว่าราชฤๅษีนี้ใช้เจาะจงเกี่ยวกับฐานันดรของผู้ออกบวชมากกว่าบรรลุคุณธรรมชั้นสูงเหมือนอย่างพรหมฤๅษี และเทพฤๅษี ดังกล่าวมา

     4. มหาฤๅษี, มหรรษี (Maha Rishi)

แปลว่า ฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่ หมายถึง ฤๅษีโดยทั่วไปบำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์ จนมีฤทธิ์เดชเป็นที่เกรงกลัวของทวยเทพเทวาทั้งหลายรวมไปถึงเหลาอสูร มหาฤๅษีนี้มีความหมายกว้างขวางรวมเอาฤๅษีสามประเภทข้างต้นไว้ด้วย หมายความว่าเป็นฤๅษีที่ได้ฌานสมาบัติชั้นสูง มีอิทธิอำนาจควบคุมธาตุทั้ง ๔ เป็นที่เคารพของเทพเทวา หรือจะใช้เรียกฤๅษีผู้มีชื่อเสียงตนใดก็ได้เช่นกัน ในวรรณคดี ฤๅษีที่ได้รับการยกย่องเป็นระดับมหาฤๅษี นั้นมีมากมายหลายตน แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ “ฤๅษีวาลมีกิ” ผู้แต่งเรื่องรามารยณะ. ฤๅษีทุรวาส ผุ้มีโทสะร้ายสาปแช่งเทวดาให้พินาศ, ฤๅษีกบิล ผู้มีตาไฟ และได้เผาผลาญเจ้าชายศุรยวงศ์ ๑,๐๐๐ องค์ให้ถึงกาลพินาศ นอกเหนือจากนี้ พระภรตมุนี ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาฤๅษีเช่นเดียวกัน โดยพระภรตมุนีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรจนานาฏยศาสตร์ โดยจดจำจากท่ารำของพระศิวะในปางนาฏราชที่แสดงไว้ที่ตำบลจิทัมพรัมหรือติลไลในอินเดียภาคใต้

     5. บรมฤๅษี, ปรมฤๅษี (Parama Rishi)

หมายถึง ฤๅษีที่ยิ่งใหญ่กว่าฤๅษีทั้งปวง คำนี้ใช้รวมกับฤๅษีในลำดับที่ ๑-๔ ด้วย มีความหมายกว้างๆ เช่นเดียวกับ มหาฤๅษี (ในบางที่อาจแปลความหมายต่างไปว่า บรมฤๅษีมีศักดิ์ตบะฌานแก่กล้ากว่ามหาฤๅษีก็ได้) อย่างไรก็ตาม คำนี้มิได้เจาะจงว่าจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า “บรมฤๅษี” คือฤๅษีที่สำเร็จฌานชั้นสูง เป็นที่เคารพกราบไหว้ของเหล่าฤๅษีทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และเทวดา

     5. ศรุตฤๅษี (Saruta Rishi)

หมายถึง ฤาษีผู้แต่งคัมภีร์พระเวทโดยทั่วไป

     6. กาณฑฤๅษี (Kandha Rishi)

หมายถึง ฤๅษีผู้แต่งบทสวดในคัมภีร์พระเวท

 

จุดมุ่งหมายของพิธีกรรมไหว้ครู-ครอบครู

  1. เพื่อรำลึกถึงพระคุณของครู และแสดงการเคารพครุ ด้วยการหาดอกไม้ ธูป เทียน ทำการบูชาครู เพื่อขอความคุ้มครองป้องกันภัย
  2. เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาต่างๆ
  3. เป็นพิธีประสิทธิ์ประสาทวิชาและความสำเร็จให้
  4. เป็นวันรวมพลังสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่าศิษย์
  5. เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

การไหว้ครูมีหลายประเภท ได้แก่ ไหว้ครุไสยศาสตร์, ไหว้ครูโหราศาสตร์, ไหว้ครูนาฏศิลป์-โขน-ละคร-ภาพยนตร์, ไหว้ครูหมอยา, ไหว้ครูช่าง, ไหว้ครูมวย ฯลฯ อันมีพิธีกรรมที่แตกต่างกัน แต่มีจุดหมายเดียวกัน

ปัจจุบันมีการประยุกต์พิธีกรรมแบบบองค์รวม คือจัดไหว้ครูขึ้นพร้อมกันเป็นพิธีเดียว วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ทำการงานสัมฤทธิ์ผล (สำเร็จผล) เชื่อว่า หากได้ผ่านพิธีการครอบครูแล้วจะบังเกิดสิริมงคลยิ่งใหญ่ จะทำการสิ่งใดต่อไปในเบื้องหน้า ก็เปรียบเสมือนมีครูคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากเภทภัยและเสนียดจัญไรต่างๆ หากกุศลบารมีส่งผล ครูย่อมอำนวยพรให้ศิษย์พบความมั่งมีศรีสุขได้ดังใจปรารถนา

โดยมากนิยมทำพิธีครอบครู-ไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี (คุรุวาร) หรือวันอาทิตย์ (สุริยวาร) เพราะพระพฤหัสบดี (เทพนพเคราะห์) เป็นพระฤๅษีผู้คงแก่เรียน เป็นสัญลักษณ์แห่งครูบาอาจารย์ผู้สอนคน ส่วนวันอาทิตย์เป็นวันเสริม ในฐานะเทพนพเคราะห์ผู้ส่องแสงสว่าง ในทางนามธรรม แสงสว่างเปรียบได้กับปัญญาความรู้

จะวันไหนก็ตาม ต้องไม่ตรงกับวันพระ เพราะครูบาอาจารย์จะไม่ลงมาในวันพระนี้ สันนิษฐานว่าครูบาอาจารย์ต้องไปร่วมประชุมกับเหล่าเทวดา เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาในวันพระ

ตามคติโบราณเชื่อว่า หากบุคคลใดร่ำเรียนศิลปวิทยา เรียนสรรพศาสตร์โดยวิธีการใดๆ ก็ตาม หากมิได้ทำการไหว้ครูหรือครอบครูอย่างถูกต้อง หรือบางคนเคยล่วงเกินครูบาอาจารย์ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นการไม่สมควรในความเป็นศิษย์ เหตุเพราะขาดความเคารพครูผู้มีพระคุณ ศิษย์ผู้นั้นอาจต้องอาถรรพ์เสนียดจัญไรต่างๆ ทำให้ชีวิตตกต่ำได้

ดังนั้น บุคคลใดก็ตามหากร่ำเรียนวิชาใดๆ มา โดยไม่บอกกล่าวครูบาอาจารย์ในสายนั้นๆ หรือไม่ทราบว่าตนเคยล่วงเกินครูบาอาจารย์มาหรือไม่ สมควรเข้าร่วมพิธีกรรมไหว้ครู-ครอบครู (ที่จัดอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมเดิม) อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เพื่อเสริมสิริมงคลแก่ตนให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป

วันพฤหัสบดี อินเดียสิยมนับถือว่าเป็น “วันครู”

พระศิวะได้ร่ายพระเวทให้ฤๅษี ๑๙ ตน ป่นเป็นเถ้าธุลี แล้วห่อด้วยผ้าสีแก้วไพฑูรย์ประพรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นเทวราช มีสีกายดั่งแก้วไพฑูรย์ มีวิมานบุษราคัม ทรงกวางทองเป็นพาหนะ มีหน้าที่รักษาเขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันตก มีร่างกายเป็นฤๅษี จึงมีปัญญาบริสุทธิ์ เฉลียวฉลาด พูดจาไพเราะสุภาพ เป็นอาจารย์แห่งสรรพวิชาความรู้ทั้งมวล รวมถึงเป็นอาจารย์ของปวงเทพเทวา จึงให้ถือว่าวันพฤหัสบดีอันแสดงด้วยสัญลักษณ์ของฤๅษีเป็นวันครู จึงนิยมไหว้ครูกันในวันนี้มารแต่โบราณ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) ทรงกำชับเรื่องการเคารพครูบาอาจารย์ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ฯ ผู้ทรงสืบสานตำราการสร้างพระกริ่งมาแต่โบราณ และสร้างพระกริ่งขึ้นจนมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ทรงเน้นหนักเรื่องการเคารพครูบาอาจารย์เป็นอย่างมาก หากทรงทราบว่าใครเรียนวิชาอาคมมา แล้วประกาศตนว่าเรียนรู้มาเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์แล้ว จะทรงติเตียนและทักท้วงโดยพลันว่า

“แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดด้วยพระองค์เอง พระองค์ก็ยังทรงรำลึกถึงคุณแห่งพระอาฬารดาบสและอุทกดาบส ผู้เป็นครูบาอาจารย์แต่เริ่มแรก นับประสาอะไรกับคนสามัญธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่จะเรียนรู้ได้โดยปราศจากครูบาอาจารย์”

 

เครื่องสักการบวงสรวงพระฤๅษี

ดอกไม้หรือพวงมาลัย อาหารมังสวิรัติ เผือกต้ม มันต้ม หรือผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วยน้ำว้า, มะพร้าวอ่อน (งดเว้นน้อยหน่าและสับปะรด), น้ำชา, น้ำเปล่า, หมากพลู, บุหรี่, ถวายทุกวันพฤหัสบดี หรือวันโกน (ก่อนวันพระ ๑วัน)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
ที่มา:  คัดลอกจากหนังสือ ตำนานพระฤๅษี บรมครูแห่งศาสตร์วิชา โดย อาจารย์ทศพล จังพานิชย์กุล
 
ฤาษี  ตำนานพระฤๅษี  ฤๅษี 
 
รายนาม 108 พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ร่วมปลุกเสก พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน 2485
เมื่อ:  1/1/2016 3:21:00 PM    เปิดอ่าน: 12,334    ความเห็น: 0
 

 
 
 
Copyright 2015
 
 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | ทำเนียบวัตถุมงคล|คณะโหราจารย์ | คณะที่ปรึกษา | ดูดวงสด | คลิปรายการ | เรื่องเล่าจาก อ.สุชาติ | บทความทั่วไป | ติดต่อเรา

เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558

 เว็บนี้จัดทำโดยทีมงานครูกายแก้ว.com  (โดยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก อ. สุชาติ รัตนสุข)