Copyright 2015

 
 

 
 
New Page 1
   ทำเนียบวัตถุมงคลทั้งหมด
   วัตถุมงคลมาใหม่ 
   (ของเก่า ของสะสม) 
   วัตถุมงคลมาใหม่
   (ของใหม่) 
** แนะนำวัตถุมงคล ** 

หมวดครูกายแก้ว

   องค์บูชา
   วัตถุมงคล
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดย อ.สุชาติ รัตนสุข

   เทพเทวะ (องค์บูชา)
   เทพเทวะ (วัตถุมงคล)
   ฤาษี  มหาฤาษี
   เครื่องราง ของขลัง
   เครื่องประดับ
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดย เกจิอาจารย์ชื่อดัง

   พระกริ่ง
   พระกรุ
   ผ้ายันต์
   108 เกจิอาจารย์ดัง ยุคอินโดจีน
   พระแชมป์
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดยเทวสถานอื่นๆ

   อื่นๆ
[เว็บอัพเดทเมื่อ: 4/8/2563]
 
Flag Counter
 
 

 

ประวัติพระฤๅษีร้อยแปด

  เมื่อ:  12/6/2015 2:47:19 PM    เปิดอ่าน: 11,752   
 
 
ประวัติพระฤๅษีร้อยแปด
 

     ในยุคโบราณกาลจะเป็นฤๅษีได้ ต้องทำการบำเพ็ญฌานบารมีให้แก่กล้า นานนับเนื่องเป็นโกฏิ เป็นกัลป์ เป็นอสงไขย จึงจะได้รับพรหรือได้ประทานนามจากพระศิวะ จอมมุนีแห่งฤๅษีทั้งปวง ฤๅษีตนใดได้รับนามก็จะเป็นปฐมฤๅษี มีชื่อเรียกมาจนถึงปัจจุบัน

     ฤๅษีในอินเดียมิใช่มีแต่คนวรรณะพราหมณ์เท่านั้นที่มาบวช แต่มีทุกชั้นวรรณะ ไม่ว่าคนวรรณะใดก็สามารถละทิ้งบ้านเรือนหรือความสุขทางวัตถุมาแสวงหาความหลุดพ้นได้ทั้งนั้น พระศิวะได้ประทานนามให้ฤๅษีมากมาย แต่เรียกรวมๆว่า ฤๅษีร้อยแปด ฤๅษีเปรียบเสมือนเป็นผู้ค้นคว้าทางสรรพวิทยาการต่างๆ เป็นผู้จัดระเบียบความรู้ แล้วนำมาสอนแก่มนุษย์อีกทอดหนึ่ง ฤๅษีที่ริเริ่มสอนความรู้ที่ตนค้นพบถือว่าเป็น “ครูต้น” ในศาสตร์วิชานั้นๆ

     ฤๅษีเมื่อปฏิบัติแล้วย่อมได้อภิญญา ๕ ประการ (ไม่เท่ากับพระอรหันต์ซึ่งมีข้อที่ ๖. อาสวักขยญาณ – การทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป ซึ่งกระทำได้ยากกว่า)

อิทธิวิธี – แสดงฤทธิ์ได้
ทิพพโสตญาณ – มีหูทิพย์
เจโตปริยญาณ – กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ – ระลึกชาติได้
ทิพจักขุญาณ – มีตาทิพย์

ฤๅษีมีภรรยาได้ เนื่องจากฤๅษีมีหลายชั้น จึงมีข้อบัญญัติสำหรับฤๅษี เช่น

ฤๅษีชั้นพรหม ห้ามมีภรรยา
ฤๅษีชั้นเทพ องค์ปฐมห้ามมีภรรยา แต่องค์ถัดลงมามีภรรยาได้
ราชฤๅษี, นรฤๅษี มีภรรยาได้

ดังนั้นจึงอย่าเข้าใจผิดว่า ฤๅษีมีภรรยาไม่ได้ เนื่องจากมีห้ามเฉพาะฤๅษีชั้นพรหม และชั้นเทพที่เป็นองค์แรกเท่านั้น ฤๅษีแม้จะบำเพ็ญพรต แต่ก็มิใช่พระสงฆ์ในพุทธศาสนา วัตรปฏิบัติและการถือศีลก็ต่างกันมาก จึงไม่มีข้อห้ามเรื่องมีครอบครัว

ตัวอย่างฤๅษีที่มีภรรยา

ฤๅษีโคตรมะ  มีภรรยาคือ นางอหลยา (กาลอัจนา) มีบุตรชายเป็นปุโรหิตของท้าวชนกในรามเกียรติ์ (คือพระสตานันทมุนี)
ฤาษีอัตริ มีภรรยาคือ นางอนะสูยา
ฤๅษีชมทัคนี มีภรรยาคือ นางเรณุกา
ฤๅษีพฤหัสบดี มีภรรยาคือ นางตารา
ฤๅษีโทรณะ หรือโทรณาจารย์ มีภรรยา มีบุตรชายชื่อ อัศวัตถามา
ฤาษีวยาสะ มีภรรยาคือ นางอัมพิกาและนางอัมพาลิกา มีบุตรชายชื่อ ปาณฑุ, ธฤตราษฎร์ และ วิทูร ฯลฯ

 

ฤๅษีเพชรฉลูกัณฑ์ (ตีมูรติอวตาร, ภาคหนึ่งของพระนารายณ์)

บรมครูผู้ประสิทธิ์ความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง, บรมครูแห่งไสยเวทวิทยา

ลักษณะ มี ๓ แบบดังนี้

ปางวิษณุกรรม (คติครูช่าง) มีหน้าสีเขียว ทรงมงกุฎน้ำเต้า ทรงถือเครื่องมือช่าง เช่น ลูกดิ่ง ฯลฯ
ปางเทวกรรมประสิทธิ์ (คติครูช่าง) มีลักษณะนั่งพนมมือ อยู่ในวงเชือกนาคบาศเป็นรูปเลข 8 (เลขอารบิก)
ปางเพชรฉลูกัณฑ์ (คติไสยศาสตร์) นอกจากอวตารวมกันของพระตรีมูรติที่มีนารายณ์เป็นองค์ประธานแล้ว บางคติยังระบุว่าเป็นการอวตารหลอมรวม ๘ มหาฤๅษีเข้าด้วยกัน คือ ฤๅษีนารายณ์, ฤๅษีตาไฟ (ศิวะ), ฤๅษีพรหมปรเมศ, ฤๅษีนารอท, ฤาษีวสิษฐ์, ฤๅษีกาลลาวีสิกขี, ฤๅษีมุนีภัทรเวช และฤๅษีมหาเทวะมุนีเวช บังเกิดเป็นฤๅษีมีพันกร

ลักษณะเศียร – ๓ ชั้น ชั้นล่างและชั้นกลางเหมือนกัน คือมี ๓ หน้า (บางแห่งอาจสร้างเป็น ๔ หน้าก็ได้) ปากแสยะ มีเขี้ยว และที่ยอดด้านบน เป็นยอดฤๅษีอีก ๑ หน้า

ทั้ง ๓ แบบเรียกรวมๆ ว่า ฤๅษีเพชรฉลูกัณฑ์ คือผู้ประสิทธิ์ประสาทความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เป็นบรมครูใหญ่ของการเรียนเวทมนตร์ การกล่าวโองการเชิญครูทุกสำนักมักเอื้อนเอ่ยนามของฤๅษีเพชรฉลูกัณฑ์อยู่เสมอ ท่านเป็นอีกผู้หนึ่งทีมีฤทธาศักดานุภาพมาก และมีบารมีสูงส่งเพียบพร้อมไปด้วยเมตตาธรรมเป็นที่รักของมวลมนุษย์ทั่วไป ท่านเป็นภาคหนึ่งของพระนารายณ์ รวมกับบารมีแห่งพระศิวะและพระพรหมธาดา บำเพ็ญตบะจนธาตุธรรมเกิดการแตกอณูออกมาเป็นรูปและนามของพระเพชรฉลูกัณฑ์ในมิติต่างๆ ซึ่งล้วนกำเนิดมาจากต้นธาตุต้นธรรมเดียวกัน พระเพชรฉลูกัณฑ์เป็นแรงครูตามความเชื่อของโบราณาจารย์ เป็นญาณบารมีของอัคนีธาตุที่ร้อนแรง ทรงตบะเดชะและอำนาจ เป็นมหาปราบ และเป็นผู้สร้างสถาปัตย์ การกำหนดรูปแห่งฤๅษีเพชรฉลูกัณฑ์เสมอเถร (การเยื้องย่างกาย) เป็นนิมิตหมายแห่งความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้บูชา

ในคติไสยเวท นับถือกันว่าเป็นตรีมูรติปางหนึ่ง ที่มีพระนารายณ์เป็นประธาน มีพระพักตร์และพระกรนับพัน สามารถอำนวยความสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์ มียันต์ที่เรียกว่า หัวใจเพชรฉลูกัณฑ์, นะเพชรฉลูกัณฑ์, ยันต์ตรีนิสิงเห – เพชรฉลูกัณฑ์ถอดรูป, ยันต์ลงพิสมรเพชรฉลูกัณฑ์ ฯลฯ ได้รับความนิยมในตำรับพิชัยสงครามของไทยและกัมพูชา

ในคติด้านการช่างทุกชนิด นิยมเรียกว่า พระวิษณุกรรม (เพชรฉลูกรรม)

 

ฤๅษีพระพิราพ (พระศิวะอวตารภาคปราบมาร)

ลักษณะเศียรครู – หน้ายักษ์ ปากแสยะ หน้าสีม่วงแก่ ตาจระเข้ ศีรษะโล้น เส้นผมและลำตัวเป็นวงลายทักษิณาวรรต สวมมงกุฎยอดเดินหน (เรียกว่าพระพิราพทรงเครื่อง)

ฤๅษีพระพิราพ นิยมเรียกสั้นๆ ว่า พระพิราพ คือพระศิวะอวตารในภาคดุหรือภาคปราบมาร คำว่า พระพิราพ มาจากคำว่า ไภรพะ, ไภระวะ, ไภราพ เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย นับถือกันมานานนับพันปี ทั้งในอินเดีย, ทิเบต, เนปาล ต่างก็มีเทวรูปท่านประดิษฐานไว้ ถือเป็นบรมครูสูงสุดทางนาฏศิลป์ (พระพิราพนี้ เป็นคนละตนกับยักษ์วิราธ พิราพป่าในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีนิสัยเกเร ยักษ์วิราธเป็นเทวอสูรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลักลอบรักกับนางฟ้าตนหนึ่ง จึงถูกท้าวเวสสุวัณสาปให้เป็นยักษ์ป่าชื่อ วิราธ (แปว่าผู้กระทำผิด แต่มีฤทธิ์มาก) ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นตนเดียวกัน ยักษ์วิราธมีหน้าที่เพียงเฝ้าสวนมะม่วงเท่านั้น) ส่วนฤาษีพิราพ ก็คือ พระไภระวะ ท่านประทับในป่าช้า เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย เทพเจ้าแห่งการกำจัดภูตผีปีศาจ อวมงคล เสนียดจัญไรทั้งหลายให้สิ้นไป ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคติการนับถือพระพิราพหรือพระไภระวะมานานนับพันปี โดยเชื่อว่าพระองค์จะช่วยปกป้องคุ้มครอง ขจัดโรคภัยไข้เจ็บ อาถรรพ์ร้ายและภูตผีปีศาจ

ในวงการนาฏศิลป์ของไทยเชื่อกันว่าเป็นครูที่แรง มักจะมีอาถรรพ์เกิดขึ้นถ้าหากว่ามีการลบหลู่ หรือถ้าไม่ให้ความเคารพอย่างจริงจัง ก็จะเกิดสิ่งไม่ดีแก่ผู้อยู่ในวงการนาฏศิลป์-โขน-ละคร แต่จะให้คุณแรงแก่ผู้นับถืออย่างจริงจังเช่นกัน จึงเป็นที่เคารพยำเกรงเสมอมาแต่โบราณ ในวงการนาฏศิลป์ ดุริยาคศิลป์ ถือว่าพระพิราพหรือฤๅษีพระพิราพทรงฤทธิ์อำนาจสูงสุด ดังปรากฏในพิธีการไหว้ครู-ครอบครูดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอยู่เนืองๆ ในบางพิธีกรรมที่ไม่ได้จัดให้ใหญ่โตหรือมีเศียรครูครบทั้งหมด ก็มีการอนุโลมโดยนับถือพระพิราพเป็นครูสูงสุด ในฐานะเป็นตัวแทนของพระศิวะ อาจตั้งเศียรพระพิราพคู่กับพระภรตมุนี (บรมครูทางโขน-ละครอีกตนหนึ่ง) ตั้งไว้สักการบูชาคู่กัน สรรพวิชาความรู้ในโลกนี้ล้วนมีครูเป็นต้นเค้า เรียกว่า ครูต้น (ต้นตำรับในศาสตร์ต่างๆ) ในการแสดงโขน ละคร นาฏศิลป์ต่างๆ จึงต้องจัดมณฑลพิธีและอัญเชิญเศียรพระพิราพและพรภรตฤๅษีตั้งคู่กันไว้บนที่บูชาเสมอ ดังปรากฏเป็นหลักฐานที่มีบันทึกในพระตำราครอบโขนละครฉบับหลวงตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ สืบมาถึงปัจจุบัน ครูผู้ประกอบพิธีจะทำการอ่านโองการเชิญองค์พระพิราพมารับเครื่องสังเวย ปี่พาทย์จะเล่นเพลงประจำองค์ท่าน เสมือนว่าท่านได้เยื้องกรายเข้ามาในมณฑลพิธี ครูผู้อ่านโองการจะทำการครอบเทริดโนรา, เศียรพระฤๅษีภรตมุนี และเศียรฤๅษีพระพิราพ เป็นลำดับสุดท้ายแก่ผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งถือว่าเป็นลำดับที่สำคัญมาก เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของครูอสูรฤๅษีตนนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ฤๅษีนารอท (นารทะ)

บรมครูแห่งพระเวทมนตราและเป็นอาจารย์แห่งฤๅษีทั้งปวง, ผู้ประดิษพิณขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

ลักษณะเศียรครู – หน้าฤๅษีสีกลีบดอกบัวหรือสีเนื้อ สวมเทริดฤๅษี ยอดบายศรีลายหนังเสือ

คือ นารทมุนี ผู้ชอบอุทานนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าว่า “นาร้าย นารายณ์” อยู่เป็นประจำ เชื่อกันว่าเป็นผู้แสดงองค์ธรรมของพระพรหมธาดา หรือพระผู้เป็นเจ้าให้มนุษย์ผู้อื่นรับรู้ จึงถือว่าเป็นผู้สอนศาสนา เป็นผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด จึงอาจนำคำอธิษฐานไปสู่พระผู้เป็นเจ้าได้รวดเร็ว ตามคตินิยมของไทยนับถือกันว่า..เป็นครูใหญ่ฝ่ายฤๅษี และเป็นอาจารย์แห่งฤๅษีทั้งปวง ตำนานฤๅษีนารอทหรือนารทะ เป็นฤๅษีชั้นพรหมที่มีฤทธิ์อำนาจมาก เป็นหนึ่งในปชาบดี (หรือพระผู้สร้าง) ๑ ในฤๅษี ๗ ตนที่พราหมณ์ให้ความเคารพสูงสุด) แม้ตำนานทศชาติก็กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่เสวยชาติเป็นพรหมฤๅษี มีชื่อว่า นารอท ท่านเป็นบุตรของมหาฤๅษีกัศยปเทพบิดร บ้างก็ว่าเป็นโอรสของพระพรหมธาดา เป็นผู้รอบรู้ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต (เรียกว่า ตรีกาลชญา คือผู้รู้กาลทั้งสามโลก) พราหมณ์ให้ความเคารพยกย่องฤๅษีนารอทว่าเป็นยอดแห่งฤๅษี เป็นเลิศด้วยคุณธรรมและความสามารถต่างๆ เป็ฯผู้เชี่ยวชาญในพระเวทรวมไปถึงการดนตรี (เป็นผู้ประดิษฐ์พิณหรือวีณาขึ้นเป็นครั้งแรก) เก่งด้านกฎหมายพระธรรมศาสตร์ และยังเป็นผู้รอบรู้ในมนตราทั้งปวง ผู้ศึกษาวิทยาคมจึงนิยมบูชาฤาษีนารอท โดยเคารพว่าเป็นบรมครูผู้อยู่เหนือมนตราทั้งปวง หากได้เคารพบูชาท่านเชื่อว่าการเล่าเรียนวิทยาคมยิ่งประสิทธิ์ นอกจากนี้ท่านยังเป็นหมอยาที่มีคาถาอาคมขลัง เก่งในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นอาจารย์รดน้ำมนต์ที่เชี่ยวชาญ

 

ฤๅษีภรตมุนี

ผู้รจนาคัมภีร์นาฏยาศาสตร์ (๑๐๘ ท่ารำของพระศิวะ)

ลักษณะเศียรครู – หน้าสีทอง ยอดฤๅษี

ฤๅษีภรตมุนี เป็นฤๅษีผู้แต่งตำราฟ้อนรำ (คัมภีร์นาฏยศาสตร์) เป็นครูผู้รวบรวมท่ารำของพระศิวะทั้ง ๑๐๘ เป็นประโยชน์แก่การศึกษาด้านการฟ้อนรำในอินเดียและประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีประวัติตามตำนานโบราณดังนี้

ตำนานการฟ้อนรำของอินเดียตามที่ปรากฏในโกยิ่ลปุราณะฉบับอินเดีย ได้กล่าวไว้ว่า ในกาลหนึ่ง ฤาษีกลุ่มหนึ่งที่ตั้งอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่กับภรรยาในป่าตาระคา ฤๅษีพวกนี้ประพฤติผิดในกาม มักยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่นซึ่งมิใช่คู่ครองของตน อันเป็นการฝ่าฝืนเทวบัญญัติ ร้อนถึงพระศิวะต้องชวนพระนารายณ์ลงมาปราบ จนฤๅษีสิ้นทิฐิ ยอมรับผิดแล้วก็ทูลขอขมาโทษ และสัญญาว่าจะปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดต่อไป

ในกาลต่อมา พระศิวะมีพระประสงค์จะแสดงการฟ้อนรำให้ปรากฏเป็นแบบฉบับ พระอิศวรจึงทรงฟ้อนรำ พระภรตมุนีทรงบันทึกท่าฟ้อนรำของพระอิศวรไว้ทุกกระบวนท่าเพื่อเป็นตำราการฟ้อนรำแก่มนุษย์สืบไป

 

ฤๅษีตาไฟ (พระเนตรมุนีศวร)

ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์แรงกล้าในจักรวาล, บรมครูแห่งญาณสัมผัส (ทิพยจักขุญาณ)

ฤๅษีตาไฟ พระฤๅษีผู้มีอำนาจทิพย์ประดุจเนตรที่สาม เชื่อกันว่าเป็นพระศิวะอวตาร มี ๓ เนตร (ตรีเนตร) ตาที่ ๓ จะพาดขวางอยู่กลางหน้าผาก ทรงอำนาจและอิทธิฤทธิ์มากมาย ท่านจะหลับสนิทอยู่ในฌานตลอดเวลา ถ้าหากว่าเผยอเปลือกตาที่ ๓ นั้นขึ้นมาเมื่อไหร่ จะมีเปลวไฟพุ่งออกจากดวงตานั้น สิ่งที่อยู่ตรงหน้าของท่านจะต้องมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านไปในที่สุด ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับทำลายล้างมาร นอกจากนี้ยังมีพระเวททางด้านคงกระพัน แคล้วคลาด มหาอุด และมหาปราบ

ท่านมีนิสัยดุและพูดเสียงดัง แต่จิตใจดี ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก สามารถดลบันดาลเรื่องสุดวิสัยให้เป็นไปได้อย่างเหลือเชื่อเสมอ นับถือกันว่าเป็นบรมครูแห่งญาณสัมผัส เป็นผู้มีญาณหยั่งรู้อันลึกซึ้ง จึงเป็นที่เคารพบูชาของเหล่าพราหมณ์โหราจารย์ ผู้ร่ำเรียนพระเวท และผู้สื่อจิตญาณขององค์เทพยิ่งนัก

มีเรื่องราวปรากฏในรามยณะ เมื่อมีเจ้าชายกลุ่มหนึ่งตะโกนด่าฤๅษี ฤๅษีลืมตาที่สามขึ้นมีไฟพุ่งออกมาเผาผลาญกลุ่มเจ้าชายกลายเป็นเถ้าถ่านไปในบัดดล

การบูชาฤๅษีตาไฟ นิยมนำน้ำสะอาด ๑ แก้ว ตั้งบูชาไว้ด้านหน้ารูปปั้นของท่านเสมอเพื่อแก้เคล็ดในการบูชาว่า ให้บังเกิดความร่มเย็น (เพราะเนตรท่านเป็นธาตุไฟ) โดยถือว่ารูปท่านเป็นแก้วสารพัดนึก อำนวยโชคให้สำเร็จดังใจปรารถนา ท่านได้ผูกตำรายันต์พระฤๅษีตาไฟขึ้นโดยบอกอุปเท่ห์ว่า “ใครมีไว้ไม่อับจนเลย”

 

ฤๅษีกไลยโกฏิ 

ผู้ให้กำเนิดเหล็กไหล, ผู้ค้นพบพันธุ์ข้าวสาลี, ผู้บันดาลให้มนุษย์มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง

ลักษณะเศียรครู – มี ๒ ลักษณะ คือ ๑.หน้าฤๅษี ๒.หน้ากวาง ซึ่งทั้งสองแบบมีชฎายอดฤๅษี

ฤๅษีกไลยโกฏิ บำเพ็ญตบะฌานสร้างบารมีอยู่ในป่ามาเป็นเวลายาวนาน เพื่อหวังสำเร็จทิพยญาณบารมี ทรงมีฤทธิ์อำนาจมหาศาลดุจดวงตะวันนับพันดวง เมื่อได้บวงสรวงบูชาท่านแล้วท่านย่อมช่วยเหลือให้พ้นความทุกข์ยากเสมอ เป็นผู้ให้กำเนิดเหล็กไหลด้วยอภิญญาฤทธิ์ เป็นที่เสาะแสวงหากันในหมู่ชาวโลก ท่านมีอายุยืนยาวเป็นโกฏิปี สามารถบันดาลให้มนุษย์มีอายุยืนยาว มีสุขภาพแข็งแรง มีลูกหลานสืบสกุล

และอีกประการหนึ่ง ในระหว่างที่มวลมนุษย์กำลังเดือดร้อนเรื่องอาหารการกินขาดแคลน ทำให้ท่านห่วงใยมนุษย์เหล่านั้น ด้วยฤทธาภินิหารและบุญญาธิการจึงทำให้ท่านค้นพบเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีสำหรับเป็นอาหารของมนุษย์ นับได้ว่าพระฤๅษีไลยโกฏิมีพระคุณต่อมวลมนุษย์เป็นอย่างมาก

ฤๅษีไลยโกฏิยังเป็น ๑ ในฤๅษี ๕ ตน ผู้ทำพิธีประทานบุตรให้ท้าวทศรถได้มีบุตรสืบสกุล โดยหุงข้าวทิพย์ให้ ๓ มเหสีทรงเสวย ได้แก่ นางเกาสุริยา, นางไกยเกษี และนางสุมทรชาหลังจากนั้นก็ได้บุตรขึ้นมาจริงๆ คือหลังจากเสร็จพิธีได้ไม่นาน นางกากยายักษ์ก็นำข้าวทิพย์เอาไปให้นางมณโฑกิน นางจึงให้กำเนิดบุตรสาวที่รูปโฉมงดงามกว่าหญิงใดในสามโลก คือนางสีดา (นางสีดา ก็คือฤาษีหน้ากวางเพศหญิง ส่วนฤๅษีหน้ากวางเพศชาย คือ ฤาษีกไลยโกฏิ)

วัตถุมงคลรูปพระฤๅษีไลยโกฏิไม่ค่อยมีสร้างออกมามากนัก เนื่องจากมีอาถรรพ์แรงครูสูงผู้สร้างและผู้ปลุกเสกต้องสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรเท่านั้นจึงจะทำได้สำเร็จ

 

ฤๅษีอิศวร (มุนีภพ)

เชื่อกันว่าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระศิวะ ฤๅษีอิศวรเป็นผู้ทรงคุณบารมีอันยิ่งใหญ่ มุ่งแต่บำเพ็ญตบะฌาน มุ่งทำลายล้างอธรรมให้พินาศสิ้น เป็นจอมมุนีของเหล่าฤๅษีทั้งปวงในนามของพระมุนีภพ พระสวามีของพระนางสตี (ธิดาของพระทักษะปชาบดี) แต่ท่านถูกพ่อตาตำหนิว่าแต่งกายเหมือนคนวิกลจริต ไว้ผมเผ้าและหนวดเครายาวรุงรัง สวมใส่ผ้าบังสุกุลหรือหนังสัตว์ นำเอาหัวกะโหลกคนมาเป็นสร้อยสังวาล ทาตัวด้วยขี้เถ้าหรือผงวิภูติและชอบคบกับพวกภูตปีศาจ

พระสตีจึงน้อยในที่พระบิดาว่ากล่าวพระสวามี จึงทำลายชีวิตของตนเองด้วยการกระโดดลงไปในกองไฟที่ใช้ในการทำพิธี ด้วยความรักที่มีต่อพระนาง พระมุนีภพจึงโกรธพ่อตา ได้กระทำเทวฤทธิ์แบ่งภาคออกจากพระโอษฐ์ เป็นพระวีรภัทร ไปทำลายล้างพิธียัญญกรรมของพระทักษะ ทรงแผลงศรวีรภัทรถูกเหล่าเทวดาล้มตายเป็นจำนวนมาก ศีรษะของพระทักษะขาดกระเด็นและถูกโยนเข้ากองไฟ ต่อมาพระมุนีภพได้ตัดหัวแพะต่อให้กับพระทักษะ จากนั้นจึงเดินทางไปยังป่าหิมพานต์ เพื่อบำเพ็ญธรรมสร้างบารมีต่อไป

จะยึดถือการบำเพ็ญเพียรโดยมีพระวิษณุนารายณ์เป็นที่ตั้ง เพื่อขอพรในการปฏิบัติของตนให้สำเร็จ เมื่อพระวิษณุนารายณ์ประทานพรให้พระฤๅษี ที่ปฏิบัติจนสำเร็จด้วยอำนาจแห่งทิพยฌานก็ดลบันดาลให้ฤๅษีนารายณ์มี ๔ กร หรือ ๘ กร ทรงเครื่องเทพอาวุธ ตรี, จักร. สังข์. คทา หรือดอกบัว เป็นต้น

 

น้องชายฤๅษีนารอท, บรมครูแห่งวิชาชุบตัว (กลับร้ายกลายเป็นดี)

ฤๅษีนาเรศมีความสันโดษ ชอบบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าเขาอันห่างไกลจากผู้คน ท่านเก่งในพระเวทมนตรา มีคาถาอาคมขลังศักดิ์สิทธิ์ วิชาเฉพาะของท่านคือวิชา “ชุบตัว” สามารถพลิกดวงชะตาจากร้ายให้กลายเป็นดีได้ ชุบชีวติจากความตกต่ำให้สูงส่งขึ้นได้ ทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ด้วยอิทธิบุญฤทธิ์ของท่าน ท่านสามารถบันดาลได้ทั้งนั้นหากเป็นการช่วยเหลือมนุษย์โลกและสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก

ลักษณะเศียร – หน้าสีเขียว สวมมงกุฎชฎายอดฤๅษี

ลักษณะอื่นๆ – มี ๑ พักตร์ ๒ กร

พระประคนธรรพ์ (ปร + คนธรรพ์) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือคนธรรพ์ เป็นยอดของคนธรรพ์ทั้งหลาย ร่างกายมีรอยขดเป็นวงทักษิณาวรรตรอบตัว เป็นบรมครูแห่งวิชาดนตรีปี่พาทย์ หรือเทพเจ้าแห่งการดนตรี ดีดสีตีเป่าและขับร้อง ฤๅษีพระประคนธรรพ์ท่านยังมอบวิชาคีตการของท่าน ถ่ายทอดให้กับมนุษย์โลกเอาไว้ใช้บรรเลงบูชาเทพเจ้าและกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ให้สุนทรีย์

ในวงการศิลปะดนตรีมีความเคารพนับถือท่านมาก ในงานไหว้ครู – ครอบครู ด้านนาฏศิลป์และดนตรีปี่พาทย์ต่างๆ มักจะมีเศียร์ครูฤๅษีพระประคนธรรพ์ สถิตเป็นมิ่งขวัญให้เคารพสักการะกันสืบมา

 

ฤๅษีปัญจสิงขร (บรมครูแห่งวิชาดนตรีเครื่องสายมโหรี)

ลักษณะเศียร – หน้าสีขาว สวมมงกุฎน้ำเต้า ๕ ยอด

ลักษณะอื่นๆ – มี ๑ พักตร์ ๔ กร กายสีทอง มีกุณฑล ทรงอาภรณ์นิลรัตน์ ทรงภูษาสีแดง

เดิมเคยเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเด็กเลี้ยงโค มีใจเลื่อมใสในทางกุศล ได้สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ไว้มาก เมื่อตายจากโลกนี้ได้บังเกิดเป็นเทพบุตรในชั้นจาตุมหาราชิก มีชื่อว่า “ปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตร” เป็นนักดีดพิณฝีมือเอกบนสวรรค์และขับลำนำเป็นเลิศ จนเป็นที่โปรดปรานของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ถึงกับทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าได้ทุกเวลา

ในวงการศิลปะดนตรีมีความเคารพนับถือท่านมาก ในงานไหว้ครู – ครอบครู ด้านนาฏศิลป์และดนตรีปี่พาทย์ต่างๆ มักจะมีเศียรครูฤๅษีปัญจสิงขรสถิตเป็นมิ่งขวัญให้เคารพสักการะตลอดมา

 

คาถาบูชาฤๅษีพระประคนธรรพ์ + ปัญจสิงขร

โอม...อิมสมิง พระประคนธรรพ์ ปัญจสิงขร พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปะริภุญชันตุ

ทุติยัมปิ...อิมัสมิง พระประคนธรรพ์ ปัญจสิงขร พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปะริภุญชันตุ

ติติยัมปิ...อิมัสมิง พระประคนธรรพ์ ปัญจสิงขร พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปะริภุญชันตุ

 

ฤๅษีพรหมปรเมศ - บรมครูแห่งพระเวทมนตราทุกแขนง

ลักษณะเศียร – หน้าสีทอง (บ้างก็ว่า..หน้าสีเขียว) ยอดฤๅษี มี ๓ แบบ คือ

เศียรชั้นเดียว มี ๔ หน้า หน้าสีขาว ยอดฤๅษี
เศียรสองชั้น ด้านล่างมี ๓ หน้า, ด้านบนมี ๑ หน้า
เศียรสามชั้น ด้านล่างสุดเป็นเศียรใหญ่ ๑ หน้า, ตรงกลางมี ๓ หน้า, ด้านบนมี ๑ หน้าเล็ก

ลักษณะอื่นๆ – มี ๘ กร แต่รูปเคารพมักทำเพียง ๒ กร กายสีทองหรือเขียว

ฤๅษีพรหมปรเมศ เป็นพรหมฤๅษีที่มีมเหศักดิ์ มีฤทธานุภาพยิ่งใหญ่อีกตนหนึ่ง เป็ฯที่เคารพและยำเกรงของบรรดาพระพรหม พรหมฤๅษี ทวยเทพ นางอัปสร ตลอดจนมนุษย์ ครฑา พญานาค คนธรรพ์ วิทยธร กินนร แทตย์ และอสูร ฤๅษีพรหมปรเมศท่านมีนิสัยดุและวาจาเสียงดัง แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเมตตา อบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มี ๔ พักตร์ (ตรงกับทิศทั้ง ๔) และมี ๘ กร พระพักตร์มีสีเขียว วรกายสูงใหญ่ มวยผมบนพระเศียรขมวดมุ่นขึ้นไปเป็นรูปชฎา และเป็นโพรงรอดตลอดตรงกลางเช่นเดียวกับชฎาของฤๅษีทั่วไป ท่านมีพระเวทมนตราอันแก่กล้า สามารถเสกหรือสร้างอะไรก็ได้ตามต้องการ นับว่าท่านเป็นผู้มีคุณกับมนุษย์เป็นอันมาก

 

ฤๅษีพรหมบุตร - คือเศียรพ่อแก่เศียรแรกของโลก

เป็นบุตรแห่งพระพรหมปรเมศกับนางพรหมนารี (นางพรหมนารีถูกพระศิวะจำกัดให้อยู่แต่บนพื้นดิน) ฤๅษีพรหมบุตรได้บำเพ็ญฌานจนมีฤทธิ์มาก ได้ตามหาบิดาจนพบอยู่บนพรหมโลก แต่บิดาได้ไล่ตนลงไป ฤๅษีพรหมบุตรจึงลืมตัวต่อสู้กับฤๅษีพรหมปรเมศผู้เป็นบิดา ทวยเทพจึงทูลเชิญพระนารายณ์เสด็จมาปราบ โยใช้จักรตัดศีรษะออกจากร่างกาย แต่ก็ยังไม่ตาย พระศิวะจึงใช้พระเพลิงจากเนตรที่สามเข้าแผดเผาร่างกลายเป็นจุนไป  เพื่อไม่ให้มาต่อกับศีรษะได้อีก แม้เหลือแค่ศีรษะฤๅษีพรหมบุตรก็ยังไม่ตาย เพราะมีฤทธิ์อำนาจฌาน สุดท้ายสำนึกผิด พระศิวะจึงมีบัญชาลงโทษ โดยให้ไปทำหน้าที่ช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่เดือดร้อนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ มิให้ยุ่งเกี่ยวกับพรหมโลกอีก โดยให้กลับไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม

ท่านได้ช่วยเหลือผู้คนจนได้รับความเคารพนับถือกันทั่วไป จึงบังเกิดคตินิยม สร้างเป็นเศียรฤๅษีขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงฤๅษีพรหมบุตร เพราะเหตุว่าเศียรฤๅษีพรหมบุตรทรงอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันอุปัทวันตรายและอัปมงคลทั้งหลายได้ ทั้งอำนวยโชคลาภและความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับผู้บูชาได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

ฤๅษีโคตรบุตร - อาจารย์ของทศกัณฐ์ ผู้ชำนาญพระเวทมนตราทุกแขนง

ฤๅษีโคตรบุตร ฤๅษีที่อิทธิฤทธิ์และบารมีสูงส่ง เป็นพระอาจารย์ของทศกัณฐ์และเหล่ายักษ์ในรามเกียรติ์ เป็นวงค์พรหมอีกตนหนึ่งซึ่งได้ลงมาบำเพ็ญตบะสร้างบารมีอยู่ในโลกมนุษย์ ทศกัณฐ์ได้ร่ำเรียนวิชาจากฤๅษีโคตรบุตรจนเก่งกล้าสามารถ ชำนาญทั้งมนตรา คาถาอาคม สามารถกำบังกาย หายตัวได้ ย่อตัวให้เล็กหรือใหญ่ขึ้นได้ จะเนรมิตกายเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น ฤๅษีโคตรบุตรยังมีวิชายิงธนูที่ฉมังและมนตรามหาเสน่ห์อันเป็นที่เสน่หาของเหล่าอัปสรหรือนางสวรรค์อีกด้วย เพียงเอ่ยนามฤๅษีโคตรบุตร ก็อาจทำให้นางอัปสร นางฟ้า เทพธิดา กินรี แวะเวียนเข้ามารักมาชอบอยู่ไม่ขาดสาย

ทศกัณฐ์ขอให้อาจารย์ (ฤๅษีโคตรบุตร) ช่วยถอดดวงใจให้

ทศกัณฐ์รบแพ้พาลีถึงสองครั้งสู้กับอรชุนก็แพ้ จึงไปปรึกษาพระอาจารย์ให้ช่วยถอดดวงจิตออกจากกาย พอไปถึงก็ก้มลงกราบแล้วพูดว่า “พระอาจารย์ได้สอนศิลปศาสตร์ให้ข้าฯมากมายทั้งพระเวท พระมนต์วิทยา ล้วนมีศักดาเกรียงไกร แต่สู้ใครไม่ได้ ไปสู้กับพระอรชุนก็ถูกจับมัด สู้กับพาลีก็แพ้ ขอพระอาจารย์ได้โปรดช่วยหาทางคิดอ่านอย่าให้ข้าฯตาย”

พระอาจารย์ก็ตั้งพิธีกรรมถอดจิตให้ ใครถ้าไม่ใช่องค์รามแล้วจะฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย เพราะถอดดวงจิตไปอยู่นอกกายเสียแล้วดังนี้

 

ฤๅษีตาวัว

เดิมท่านเป็นพระสงฆ์ตาบอดทั้งสองข้าง แต่ชอบการเล่นแร่แปรธาตุ จนสามารถทำปรอทเหลวให้แข็งได้ด้วยเวทมนตร์ คราวหนึ่งท่านไปถาน (ส้วม) แล้วเผอิญทำปรอทสำเร็จตก จะหยิบเอาก็ไม่ได้ด้วยตามองไม่เห็น จึงเงียบไม่บอกใคร เลยแกล้งบอกศิษย์ให้ไปหาที่ถานว่าหากเห็นแสงเรืองๆเป็นสิ่งใดก็ให้เก็บมาให้ ในที่สุดก็ได้ปรอทคืนมา ท่านจึงล้างให้สะอาดแล้วใส่ลในโถน้ำผึ้ง เพื่อเอาไว้ฉันเป็นยา ไม่ได้นำติดตัวอีกเลย

ต่อมาท่านรำพึงว่า เราจะมัวมานั่งตาบอดไปไย มีของดีวิเศษคือปรอทสำเร็จอยู่กับตัวจะกลัวอะไร คิดดังนี้ จึงให้ศิษย์ไปหาศพคนตายใหม่ๆ เพื่อควักเอาลูกตา แต่ศิษย์หาไม่ได้ พบวัวนอนตายอยู่จึงควักลูกตาวัวมาแทน ท่านจึงนำปรอทแช่น้ำผึ้งมาคลึงที่ตา ได้ควักตาที่บอดออกไป เอาตาวัวใส่แทน ใช้ปรอทคลึงที่หนังตา ด้วยฤทธิ์ของปรอทสำเร็จในไม่ช้าตาที่บอดก็เห็นดีดังเดิม ท่านนั้นจึงลาสิกขาจากความเป็นพระ มาถือบวชเป็นฤๅษี จึงถูกเรียกว่าฤๅษีตาวัวมาตั้งแต่บัดนั้น

 

ฤๅษีนนทิ (ฤๅษีหน้าวัว)

ลักษณะ – ภาคฤๅษีมีศีรษะเป็นโคเผือก รูปร่างเป็นมนุษย์ นุ่งห่มหนังเสือดาว สวมประคำหินสีดำ

เป็นฤๅษีชั้นเทพ ในภาคสวรรค์เป็นเทวดาที่มีรูปงาม ทำหน้าที่เป็นนักดนตรีประจำองค์พระศิวะ หน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นพาหนะให้พระศิวะยามเมื่อจะเสด็จไปยังที่ต่างๆ โดยแปลงกายเป็นโคเผือกให้พระองค์ประทับ

ฤๅษีนนทิเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดนตรี ขับร้อง ฟ้อนรำ โดยเฉพาะเรื่องการตีกลองทุกชนิด มีความเชี่ยวชาญเป็นอันมาก มีศิลปะในการพูดเจรจาได้น่าฟัง เป็นที่เชื่อถือและยกย่อง มีเสน่ห์ในตัว เป็นที่รักใคร่ของเพศหญิงและบุคคลทั่วไป

 

ฤๅษีปู่เจ้าสมิงไพร

บรมครูแห่งวิชามหาเสน่ห์

ปู่เจ้าสมิงไพร (บ้างก็เรียก ปู่เจ้าสมิงพราย) ปรากฏในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ อันมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับสารัตถะแห่งความรัก ความเสน่หาอาลัยของหนึ่งชาย สองหญิง จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมความรัก วรรณคดีกล่าวถึงนามแห่งปู่เจ้าสมิงไพรในฐานะอาจารย์ของพระเพื่อนพระแพง เมื่อครั้งที่มีการทำเสน่ห์ใส่พระลอ บรมครูปู่เจ้าสมิงไพรตนนี้  เชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามฤๅษีเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาป่าเขาลำเนาไพรของไทย ประกอบไปด้วย ปู่เจ้าสมิงไพร, ปู่เจ้าเขาเขียว, และปู่เจ้าสมิงคา ตามเทวบัญชาของพระอินทร์

ท่านเคยประลองเวทมนตร์กับพราหมณ์ของเมืองพระลอ ปู่เจ้าสมิงไพรได้ใช้มหามนตราปลุกเรียกบริวารภูตพรายในปาขึ้นมา เพื่อสร้างกองทัพไปทำลายพยนต์อาถรรพ์พราหมณ์ นอกจากนี้ยังเสกภูตพรายลงในไก่ป่าเพื่อลวงให้พระลอเสด็จตามไก่ไปพบกับพระเพื่อนพระแพง จนพบรักกันในที่สุด

การทำเสน่ห์เล่ห์กล ผู้ใช้วิชาดังกล่าวมักจะมีการกล่าวอ้างนามของปู่เจ้าสมิงไพรเป็นปฐม เพื่อดลบันดาลให้สำเร็จผลในกิจที่กระทำ เพื่อเพิ่มพลังทางไสยเวท เพราะท่านจะช่วยแผ่บารมีให้พรายเหล่านั้นมีตบะบารมีแก่กล้าขึ้น ทั้งยังป้องกันมิให้ต้องธรณีสารหรือของเข้าตัวได้เป็นอย่างดี ในมติครูบาอาจารย์ทางไสยศาสตร์ได้กล่าวว่า ท่านเป็นบรมครูด้านการทำเสน่ห์ เรียกจิต ฝังรูปฝังรอย ทำหุ่นเผ่าเทียน รวมไปถึงมายาศาสตร์ในการเรียกภูตผีมาใช้งาน

อานิสงส์การบูชาปู่เจ้าสมิงไพร มักจะให้คุณทางเมตตา มหาเสน่ห์ มหานิยม น่าคบค้าสมาคม คุณทางด้านโชคลาภ ป้องกันภยันตรายต่างๆ เดินทางไม่มีอุบัติเหตุ ภูตผีปีศาจ สัมภเวสีต่างเกรงกลัวในตบะแห่งบรมครูท่านนี้ยิ่งนัก

 

ฤๅษีเจ้าเขาเขียว (ท้าพนัสบดี)

บิดาของนางกวัก

ฤๅษีปู่เจ้าเขาเขียวมีตำแหน่งเป็นพระพนัสบดี คือ เจ้าแห่งป่าเขาลำเนาไพร ครั้งนั้นมีสหายที่เป็นอสูรตนหนึ่ง ชื่อ “ท้าอุณาราช” ถูกพระรามแผลงศรทีทำจากต้นกก ไปถูกทรวงอกแล้วร่างไปตรึงอยู่กับเขาพระสุเมรุ แล้วถูกสาปว่า “ตราบเมื่อบุตรของท้าวอุณาราชทอใยบัวเป็นจีวรเพื่อถวายแด่พระศรีอาริยเมตไตรย ที่จะเสด็จมาตรัสรู้ในภายภาคหน้า จึงจะพ้นคำสาปได้”

ท้าวอุณาราช หรือท้าวกกขนาก และนางประจันต์ ธิดาสาว จึงต้องคอยปฏิบัติพระบิดา และพยายามทอจีวรด้วยใยบัวเพื่อให้เสร็จทันถวายพระศรีอาริยเมตไตรย แต่ฐานะความเป็นอยู่ของนางก็ลำบากมาก ปู่เจ้าเขาเขียวเกิดความสงสาร จึงส่งนางกวักบุตรสาวมาอยู่เป็นเพื่อน ด้วยบุญฤทธิ์ของนางกวักจึงบันดาลให้พ่อค้าวานิชและผู้คนเกิดความเมตตา พากันเอาทรัพย์สินเงินทองและเครื่องอุปบริโภคมาให้นางประจันต์เป็นอันมาก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของนางดียิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก

 

ฤๅษีพระพฤหัสบดี (ฤๅษีอังคีรส) - บรมครูแห่งสรรพศาสตร์, อาจารย์ของเหล่าทวยเทพ

ฤๅษีพระพฤหัสบดี หรือฤๅษีอังคีรส เกิดจากพระศิวะได้ร่ายพระเวทให้ฤๅษี ๑๙ ตนป่นเป็นเถ้าธุลี แล้วห่อด้วยผ้าสีแก้วไพฑูรย์ ประพรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นเทวราชฤๅษี มีสีกายดั่งแก้วไพฑูรย์ มีวิมานบุษราคัม ทรงกวางทองเป็นพาหนะ มีหน้าที่รักษาเขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันตก เฉลียวฉลาด พูดจาไพเราะสุภาพ เป็นบรมครูแห่งสรรพวิชาความรู้ทั้งมวล รวมถึงเป็นอาจารย์ของปวงเทพเทวาทั้งหลาย จึงให้ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู ในอินเดียจึงนิยมไหว้ครูในวันพฤหัสบดีมาแต่โบราณ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ฤๅษีพระศุกร์ (ฤๅษีอุศนัศ) - อาจารย์ของพระราหู, พระจันทร์ และเหล่าอสูร

ในตำนานกำเนิดเทพนพเคราะห์ พระศุกร์เกิดจากพระศิวะได้ร่ายพระเวทให้โค ๒๑ ตัวป่นเป็นเถ้าธุลี แล้วเนรมิตให้กลายเป็นฤๅษีพระศุกร์ จึงมีกำลัง ๒๑ มีสีกายเป็นสีประภัสสร (สีดวงอาทิตย์แรกขึ้น) คล้องประคำ ถือไม้เท้า ทรงโคเป็นพาหนะ สถิตอยู่ในวิมานทอง ทำหน้าที่เป็นปุโรหิตของท้าวพลี และดูแลเขาพระสุเมรุฝั่งทิศเหนือ จัดเป็นเทพเจ้าแห่งโลกียสุข (ความรัก ความงาม และสันติภาพ) และเป็นครูของเหล่าอสูร

ส่วนตำนานฤๅษีร้อยแปดระบุว่า ฤๅษีพระศุกร์จัดอยู่ในชั้นเทพฤๅษี เป็นบุตรของฤๅษีภฤคุ ๑ ใน ๗ มหาสัตตฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่ กับนางชยาติ จึงมีศักดิ์เป็นหลานองฤๅษีทักษะปชาบดี จัดเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขพระฤๅษีอย่างแท้จริงผู้หนึ่ง

ฤๅษีพระศุกร์เชี่ยวชาญในพระเวทมนตราหลายแขนง อาทิ มนต์ชุบชีวิต, มนต์ทำลายศัตรู, มนต์บันดาลให้ดวงชะตาตกต่ำ ทั้งการผูกพระเวท การแก้พระเวท และการกันพระเวทครบถ้วนทั้งสามประการ ฤๅษีพระศุกร์มีศิษย์ยิ่งใหญ่ระดับเทพเจ้าดาวเคราะห์ชั้นสูง คือ พระราหู, โสมเทพ (พระจันทร์) ฯลฯ

 

ฤๅษีวาลมีกิ - ผู้รจนาคัมภีร์รามายณะ (รามเกียรติ์)

พระฤๅษีวาลมีกิเป็นผู้มีเมตตาธรรมสูงและมีอายุยืน เป็นผู้ไม่มีความเศร้าหมองและปราศจากโรคภัย เป็นผู้แต่งมหากาพย์รามยณะหรือรามเกียรติ์อันลือลั่นไปทั้งโลก) ท่านเคยพบกับฤาษีวยาสะ (ผู้เล่าเรื่องราวให้พระคเณศเขียนคัมภีร์มหาภารตะ) เมื่อพบกันแล้วต่างก็ไต่ถามถึงหนังสือคัมภีร์ของกันและกัน

 

ฤๅษีวยาสะ - ผู้แต่งและผู้เล่าเรื่องราวให้พระคเณศเขียนคัมภีร์มหาภารตะ

ฤๅษียาสะมีความสามารถบันดาลให้ผู้อื่นมีทิพจักขุญาณ หรือมีญาณหยั่งรู้ได้ตามที่ท่านต้องการทุกเวลา ท่านเป็นผู้ขอร้องให้พระคเณศเขียนคัมภีร์มหาภารตะจากคำบอกเล่าของตน ซึ่งพระคเณศได้แนะให้ฤๅษีวยาสะเล่าเรื่องไปจนจบ อย่าเพิ่งหยุด ฤๅษีวยาสะจึงบอกพระคเณศว่าถ้าไม่เข้าใจถ้อยคำใดแล้ว ก็อย่าเพิ่งเขียนเลย จนกว่าจะเข้าใจแล้วค่อยเขียน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้พระคเณศมีเวลาหยุดพัก เพราะบางวรรคบางตอนฤๅษีก็ใช้ถ้อยคำสูงส่งทำให้พระคเณศต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและเขียนออกมาได้อย่างลึกซึ้งคมคาย

เป็นบุตรของนางสัตยวดี กับฤๅษีปราศร เกิดตรงบริเวณเกาะกลางแม่น้ำยมุนา มีชื่อเดิมว่า กฤษณะทไวปายณะ (แปลว่าผู้มีผิวคล้ำที่เกิดบนเกาะ) ต่อมาเปลี่ยนเป็นวยาสะ แล้วออกบวชเป็นฤๅษีตามแบบอย่างบิดา ไปอยู่ในป่าแถบเทือกเขาหิมาลัย

ต่อมาผู้เป็นมารดาได้ให้ไปทำนิโยคะกับมเหสีม่ายสองคนของวิจิตรวีรยะ (น้องชายต่างบิดา) จึงต้องหลับนอนกับมเหสีม่ายและนางกำนัลอีก ๑ คน จนมีโอรส คือ ท้าวธฤตราษฎร์ ท้าวปาณฑุ และท้าววิทูร ต่อมาโอรสของท้าวธฤตราษฎร์และท้าวปาณฑุแย่งชิงราชบัลลังก์กัน จึงก่อสงครามขึ้น โดยมีคนล้มตายนับล้านคน ฤๅษีเกิดความโศกเศร้า จึงต้องการบอกเล่าเรื่องราวของบุตรหลานที่ประหัตประหารกันเอง จึงกลายเป็นนที่มาของคัมภีร์มหาภารตะ ซึ่งตลอดทั้งคัมภีร์จะเป็นการเล่าเรื่องราวและสรรเสริญคุณของพระกฤษณะ

 

ฤๅษีคเณศวร - ผู้รจนาคัมภีร์มหาภารตะตามคำบอกของฤๅษีวยาสะ     

ลักษณะ – ภาคฤๅษีมีเศียรเป็นช้าง โพกเศียรด้วยผ้าขาว ทรงอาภรณ์สีขาวแบบพราหมณ์ มือข้างหนึ่งถือสายประคำ เป็นภาคบำเพ็ญพรตแบบพราหมณ์ฤๅษี

เป็นโอรสของพระศิวะและพระอุมา มีพลังอำนาจในการขจัดอุปสรรคทั้งหลาย เป็นผู้บันดาลความสำเร็จทุกประการ หากจะกระทำพิธีกรรมใดๆ ต้องสักการะฤๅษีคเณศวรก่อน พิธีกรรมนั้นจึงจะประสิทธิ์และสำเร็จราบรื่น เป็นผู้มีปัญญาญาณสูงเท่าเทียมกับฤๅษีวยาสะ

คติความเชื่อเรื่องพระคเณศมีการปริวรรตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทพเจ้าแห่งการขนัดอุปสรรค มาเป็นเทพเจ้าผู้ประทานความสำเร็จ นอกจากนี้ยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการทุกแขนง โดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์และไสยศาสตร์ เรื่องราวของท่านเกี่ยวข้องกับทางโลกมากมายจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้าง เช่น ในทวีปเอเชียต่างรู้จักท่านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเอเชียใต้ เอเชียอาคเนย์ และเอเชียตะวันออก

 

ฤๅษีโคตรมะ (เคาตมะ, โคดม) - ผู้มีวาจาเป็นประกาศิต ๑ ในฤๅษี ๗ ตนที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น

เดิมเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองสาเกต มีนามว่า ท้าวโคตรมะ ได้สละราชสมบัติออกมาบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญตบะสร้างบารมีอยู่อาศรมกลางป่า เป็นผู้รู้ภาษาสัตว์ มีอยู่ครั้งหนึ่งนกกระจาบสองผัวเมียซึ่งอาศัยทำรังอยู่ที่เคราของฤๅษี ได้พูดว่าฤๅษีไม่มีโอรสหรือธิดาที่จะสืบราชสมบัติต่อไปได้ ถือว่าเสียหายต่อบ้านเมือง ถือว่าเป็นบาปอย่างหนึ่ง เมื่อฤๅษีได้ฟังและพิจารณาดูแล้วก็เห็นเป็นจริงตามที่นกกระจาบพูด จึงประกอบพิธีบริกรรมหน้ากองไฟ บังเกิดเป็นอิสตรีผู้เลอโฉมขึ้นมาคนหนึ่ง ได้ตั้งชื่อให้ว่า “นางกาลอัจนา”

ฤๅษีโคตรมะก็บำเพ็ญฌานพร้อมครองคู่กับนางกาลอัจนาภายในอาศรม และต่อมานางได้ตั้งครรภ์และคลอดธิดาออกมานามว่า สวาหะ

บางตำราก็เขียนแตกต่างออกไป เช่น ระบุว่าฤๅษีมีภรรยาที่พระพรหมประทานมาให้ ชื่อว่า “อหลยา”  ซึ่งต่อมาเป็นชู้กับพระอินทร์ ฤๅษีโคตมะสาปภรรยาให้เป็นเถ้าถ่าน และบอกว่าจะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อนางได้พบกับพระรามแล้ว จากนั้นฤๅษีก็ขึ้นไปยังพรหมโลก เมื่อพระรามเสด็จลงมา นางก็พ้นคำสาปกลับมาบริสุทธิ์เหมือนดังเดิม ฤๅษีโคตรมะจึงกลับมารับนางไปพรหมโลก และมีบุตรชื่อ ฤๅษีสุธามันตัน (ศตานันทะ) เป็นปุโรหิตของท้าวชนก

พระฤๅษีตนนี้มีวาจาเป็นประกาศิต (วาจาสิทธิ์) สามารถสาปใครให้เป็นสิ่งใดก็ได้ตามวาจาของท่าน ดังนั้นอย่าประมาทพลาดพลั้งไปลบหลู่ท่านเด็ดขาด

 

ฤๅษีกาลสิทธิ์ (ฤๅษีหน้าเสือ)

เป็นสหายกับฤๅษีหน้ากวาง บำเพ็ญตบะอยู่ในสำนักฤาษีวสิษฐ์ด้วยกัน ภายหลังทั้งสองสหายได้แยกตัวออกมาบำเพ็ญตบะในป่าบริเวณเขาไกรลาส พอนานไปก็ได้ฌานฤทธิ์แก่กล้าทั้งสองตนสามารถร่ายเวทมนตร์แปลงใบหน้าตนเองเป็นเสือและกวางได้ โดยต่างฝ่ายต่างฝากน้ำมนต์ (สำหรับถอดถอนเพื่อคืนใบหน้ากลับเป็นมนุษย์ดังเดิม) ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งไว้

แต่มีบุคคลที่สาม คือ ฤๅษีอุตริเข้ามาชวนคุย จนกระทั่งฤๅษีหน้าเสือและฤๅษีหน้ากวางลืมเรื่องที่จะคืนใบหน้ากลับมา และยังถูกฤๅษีอุตริแกล้งเทน้ำมนต์ทิ้งไป ด้วยความอาถรรพ์ของเวทมนตร์ที่ตนบริกรรมไว้ ทั้งสองจึงหมดโอกาสที่จะกลับมามีใบหน้าเหมือนดังเดิม จึงต้องกลายเป็น ฤๅษี หน้าเสือและฤๅษีหน้ากวางตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งทั้งสองก็ได้จับมือกันชำระแค้นโดยสาปฤๅษีอุตริให้มีใบหน้าเป็นลิงแทน    

 

ฤๅษีหิมวัต (ฤๅษีหน้าเสืออีกตนหนึ่ง)

ฤๅษีหิมวัต หรือฤๅษีหิมพานต์ เป็นพระบิดาของพระอุมาเทวี ชายาของพระศิวะ ท่านจึงเป็นพ่อตาของพระศิวะในอีกชาติภพหนึ่ง (นอกเหนือจาก พระทักษะปชาบดี บิดาของนางสตี) ฤๅษีหิมวัตท่านเก่งกาจในการทำศึกสงคราม เชี่ยวชาญในการปราบปรามอริราชศัตรูและการปกครองอาณาประชาราษฎร์รวมทั้งบริวารไพร่พลของท่าน

ในภาคนี้มีรูปร่างเป็นมนุษย์ นุ่งห่มหนังเสือโคร่งสีเหลือง ศีรษะเป็นเสือโคร่งสวมประคำทำจากเมล็ดรุทรักษะ

 

ฤๅษีทักษะปชาบดี (ฤๅษีหน้าแพะ) - ผู้เป็นพ่อตาของเหล่าทวยเทพและฤๅษี

พระทักษะปชาบดี เป็น ๑ ใน ๑๐ ปชาบดี (ฤๅษีที่เป็นพระผู้สร้างในลำดับที่ ๘) ตามคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ ที่เรียกว่าฤาษีหน้าแพะเกิดจากสาเหตุที่พระมุนีภพ อดีตชาติของพระศิวะ ได้ทำการตัดแพะเอามาต่อให้ จึงเรียกกันมาตั้งแต่บัดนั้น

พระทักษะปชาบดีมีธิดามากถึง ๖๔ นาง (ในจำนวนนี้ ๑๓ นาง ยกให้เป็นชายาของพระยม, ๑๓ นาง ยกให้เป็นชายาของฤๅษีกัศยปะ, อีก ๑๑ นาง เป็นชายาของฤๅษีตนอื่นๆ ดังนี้

นางขยาติ (เลื่องลือ) เป็นชายาของ ฤๅษีภฤคุ

พระสตี (จริง) เป็นชายาของ ฤๅษีมุนีภพ (พระศิวะ)

นางสภูติ (มั่นเหมาะ) เป็นชายาของ ฤๅษีมรีจิ

นางสมฤดี (สติ) เป็นชายาของ ฤๅษีอังคีรส

นางปรีติ (อิ่มใจ) เป็นชายาของ ฤๅษีปุลัสตยะ

นางกษมา (อดทน) เป็นชายาของ ฤๅษีปุลหะ

นางสันติ (สงบ) เป็นชายาของ ฤๅษีกรตุ

นางอนะสูยา (กรุณา) เป็นชายาของ ฤาษีอัตริ

นางอูรชา (ปิติ) เป็นชายาของ ฤาษีวสิษฐ์

นางสวาหา (บูชา) เป็นชายาของ ฤาษีวหนิ

นางสวธา (พลี) เป็นชายาของ ฤาษีปิตฤ

ที่เหลืออีก ๒๗ นาง ได้ยกให้เป็นชายาของพระจันทร์ทั้งหมด และยังเป็นดาวนักษัตรด้วย ทวยเทพและฤๅษีที่กล่าวมาต่างก็มีอิทธิฤทธิ์และอำนาจบารมีสูง ล้วนแล้วแต่เป็นบุตรเขยของพระทักษะปชาบดีหมดทั้งสิ้น

 

ฤๅษีอัลไลยะกะ (ฤๅษีหน้าม้า) - บรมครูม้า ผู้ประทานม้าให้ชาวโลก

“ฤๅษีหน้าม้า” หรือฤๅษีอัลไลยะกะ ท่านเป็นฤๅษีที่ผู้ประกอบพิธีเวทวิทยาอาถรรพ์ให้ความสำคัญและเคารพนับถือมากอีกตนหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มฤๅษีที่ทรงคุณกับมวลมนุษย์ เวลาที่มีการสาธยายมนต์อัญเชิญเทพหรือบูชาครู ก็มักมีการเอ่ยนามของท่านด้วย โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับม้า ต่างนับถือว่าพระฤๅษีอัลไลยะกะเป็นบรมครูม้า ผู้ประทานม้าให้กับโลก เพื่อให้มนุษย์ไว้มีได้ใช้สอย เป็นครูผู้ถ่ายทอดพิธีอัศวกรรมหรือพิธีการจับม้าและการควบคุมม้าที่ถูกต้องให้กับมนุษย์โลก

 

ฤๅษีปรศุราม - ภาคหนึ่งของพระนารายณ์, คนโปรดของพระศิวะ

พระนารายณ์อวตารมาเป็นฤๅษีปรศุราม (กึ่งเทพกึ่งฤๅษี) เพื่อปราบผู้กระทำผิดศีลธรรม โดยปกติจะบำเพ็ญฌานอยู่ ณ เทือกเขาหิมาลัย ท่านเป็นคนเถรตรง ถือว่าภารกิจหน้าที่เหนือสิ่งอื่นใด จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจนกว่าจะสำเร็จ อยู่ในฐานะบริวารที่พระศิวะทรงโปรด ถึงขนาดประทานขวานมาให้เป็นอาวุธประจำกายวันหนึ่งจะเข้าเฝ้าพระศิวะ แต่พระคเณศไม่ยอมให้เข้า เกิดการต่อสู้กัน ครั้งแรกปรศุรามสู้ไม่ได้ ต่อมาพระคเณศเห็นอาวุธของพระบิดาจึงไม่คิดจะสู้ ก้มเศียรเพื่อรับขวานจนเสียงาไปข้างหนึ่ง

 

พระมหาฤๅษีโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระสมณโคดม)

สมัยพระนารทะพุทธเจ้า พระองค์ทรงประกาศพระสัจธรรมให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายได้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้มากมาย ในกาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นมนุษย์ และได้ออกบวชเป็นพระมหาฤๅษีในป่าใหญ่ บำเพ็ญพรตจนสำเร็จอภิญญา ๕ ประการ

วันหนึ่ง พระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์ พร้อมทั้งเหล่าอุบาสก อุบาสิกามากมาย พากันมาที่ใกล้อาศรมของพระมหาฤๅษี ในคราวนั้น พระมหาฤๅษีโพธิสัตว์ผู้ทรงอภิญญาได้มองเห็นเหตุการณ์ ก็มีความปีติยินดีเลื่อมใส จึงเนรมิตอาศรมมากมายให้มีจำนวนเพียงพอกับพระพุทธองค์และเหล่าพระสาวก แล้วถวายให้นั่งเป็นที่เรียบร้อย

ครานั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระสาวกและพระมหาฤๅษี ทำให้พระมหาฤๅษีมีความปีติยินดีเป็นที่สุด วันรุ่งขึ้นจึงเหาะไปยังอุตตรทวีป เพื่อนำเอาภัตตาหารมาถวายพระพุทธองค์และพระสาวก กระทำอย่างนั้นอยู่เป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายสักการะด้วยไม้แก่นจันทร์แดงอันสูงค่า พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาแล้วตรัสพยากรณ์ว่า

ในอนาคตอีก ๑ อสงไขย กับอีกเศษแสนมหากัป พระมหาฤๅษีผู้มีอานุภาพนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า “พระศรีศากยมุนีโคตมพุทธเจ้า” (พระสมณโคดม) จึงเป็นเครื่องบ่งบอกว่า พระสมณโคดมหรือพระพุทธเจ้าของพวกเราในยุคปัจจุบันนี้เคยเสวยชาติเป็นพระฤๅษีมาก่อน (ดังนั้นมนุษย์โลกหรือคนไทยจึงไม่ควรลบหลู่ดูหมิ่นฤๅษีทั้งปวงบนโลกนี้)

 

ฤๅษีโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเป็นฤๅษี

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดตโปทาราม เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภถึงพระสมิทธิเถระ ผู้ถูกนางเทพธิดาชักชวนให้เสพกาม ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นฤๅษี บำเพ็ญเพียรฌานสมาบัติอยู่ใกล้สระน้ำในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งท่านได้บำเพ็ญเพียรตลอดทั้งคืน พอสว่างแล้วจึงไปอาบน้ำในสระ เสร็จแล้วได้มายืนตากแดดอยู่ ในขณะนั้นมีเทพธิดานางหนึ่งมองเห็นรูปโฉมความงดงามของร่างกายท่าน แล้วเกิดความกำหนัดขึ้น จึงพูดเชิญชวนว่า “ให้ท่านเสพกามเสียก่อนแล้วจึงออกบวชจะไม่ดีกว่าหรือ ท่านอย่าได้ปล่อยให้วัยและเวลาเสพกามล่วงเลยไปเสีย ขอเชิญท่านมาเสพกามเถิด”

ฤๅษีโพธิสัตว์ได้ฟังเช่นนั้นจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า

“เราไม่รู้เวลาตายของตนเลย เวลาตายยังปกปิดอยู่ หาปรากฏไม่ เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่บริโภคกาม มาเที่ยวภิกขาจารอยู่ ขอเวลาบำเพ็ญสมณธรรมอย่าล่วงเลยเราไปเสีย บุคคลแม้เป็นอธิบัณฑิต ก็ไม่รู้ถึงฐานะ ๕ อย่าง อันไม่มีนิมิตในโลกนี้ คือ.. ชีวิต ๑ พยาธิ ๑ เวลา ๑ ที่ตาย ๑ ที่ไป ๑”

เทพธิดาได้ฟังคำพูดนั้นจึงเกิดความละอายใจ ก็หายร่างไปจากที่ตรงนั้นทันที

 

ฤๅษีชีวกโกมารภัจจ์ - แพทย์ประจำพระพุทธองค์

มุนีผู้เชี่ยวชาญในด้านวิชาการแพทย์และสมุนไพรในสมัยพุทธกาล เป็นแพทย์หลวงประจำองค์พระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ ต่อมาพระเจ้าพิมพพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย เชี่ยวชาญในการรักษาโรคหลากหลายแขนง ท่านได้ศึกษามาจากฤๅษีอาเตรยะที่สำนักตักศิลา แต่คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักฤๅษีอาเตรยะในนาม “มหาเถรตำแย” มากกว่า นามนี้มีปรากฏในตำราแพทย์แผนไทย ที่เรียกว่า “คัมภีร์ปฐมจินดา”

ชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรของนางสาลวดี หญิงโสเภณีในเมืองราชคฤห์ ธรรมดาหญิงโสเภณีจะไม่เลี้ยงบุตรชาย เพราะสืบสายอาชีพไม่ได้ จึงให้สาวใช้นำใส่กระด้งไปวางไว้ที่กองขยะ บ่ายวันนั้น อภัยราชกุมาร โอรสของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จประพาสผ่านมาทางนั้น เห็นฝูงนกการุมล้อมทารกอยู่ ตรัสสั่งให้นายสารถีนำไปมอบให้แม่นมเลี้ยงดูภายในวัง แล้วตั้งชื่อให้ว่า ขีวก มาจากคำว่า ชีวิต (รอดชีวิตมาได้)

เมื่อเจริญวัยขึ้นมาจึงได้ประทานนามเพิ่มเติมว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า เป็นบุตรบุญธรรมของพระราชกุมาร ทรงชุบเลี้ยงประดุจโอรสแท้ๆ ของพระองค์ แม้พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงโปรดปรานด้วยเช่นกัน กาลต่อมาชีวกได้หนีออกจากวัง เดินทางไปกับกองเกวียนพ่อค้าจนถึงเมืองตักศิลา ฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ คือ พระฤๅษีอาเตรยะ (รคาพฤาษตริญญา) ผู้เป็นเจ้าสำนัก

เขาเรียนได้เร็วกว่าศิษย์คนอื่น แม้จบหลักสูตรแล้วก็ยังมีความสงสัยในความรู้ของตนเองว่าอาจจะไม่สมบูรณ์ จึงเข้าไปปรึกษาอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ได้สั่งให้เขาออกไปหาพืชที่เห็นว่าใช้ทำยามิได้มาให้อาจารย์ เขาใช้เวลาค้นหาจนทั่วก็ไม่พบพืชที่ใช้ทำยาไม่ได้สักอย่างเดียว (เพราะความที่ตนรู้ลึกซึ้งว่าพืชทุกชนิดใช้ทำยาได้หมด) จึงกลัวอาจารย์จะตำหนิ เมื่อแจ้งแก่ท่านแล้ว พระอาจารย์กลับยิ้มอย่างพอใจ และกล่าวว่าเธอเรียนจบแล้ว มีความสามารถออกไปรักษาคนไข้ได้อย่างแน่นอน

ชีวกโกมารภัจจ์มีอัธยาศัยดี เคารพเชื่อฟังอาจารย์ มีความกตัญญู มีศีลธรรม สุขุมเยือกเย็น สุภาพเรียบร้อย ไม่พลาดพลั้ง อีกทั้งเชาว์ปัญญาก็ดีเยี่ยม จึงเป็นที่รักของอาจารย์ ได้เมตตาสอนวิชาแพทย์พิเศษให้อีกแขนงหนึ่ง คือวิชาประสมและปรุงยาขนานเอก พร้อมทั้งวิธีการรักษาโรคให้ด้วย ยาขนานนี้วิเศษมาก สามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด

หมอชีวกโกมารภัจจ์ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แก่กษัตริย์ และประชาชนทั่วไปเป็นอเนกประการ ท่านเป็นอุบาสกผู้เป็นอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน พระบรมศาสดาได้ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายเลื่อมใสในบุคคล

อานิสงส์การบูชาปู่ฤๅษีชีวกโกมารภัจจ์ : ประทานพรให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย หรือขอพรเพื่อให้ช่วยปัดเป่า บรรเทาหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

 

ฤๅษีสุทันตะ (สุกกทันต์) - ผู้สร้างเมืองหริภุญไชยร่วมกับฤๅษีวาสุเทพ

ฤๅษีสุทันตะเดินทางมาจากประเทศอินเดียเข้าสู่แคว้นสิบสองปันนา มาร่วมสร้างหริภุญไชยนครร่วมกับฤๅษีวาสุเทพ หริภุญไชยมีสัมพันธ์ที่ดีกับอาณาจักรละโว้ คือพระธิดาของกษัตริย์ละโว้ได้มาครองราชย์ที่นครหริภุญไชย มีพระนามว่า พระนางจามเทวี

ฤๅษีสุทันตะได้ตั้งตักศิลาขึ้นที่เขาสมอคอน เพื่อเป็นสำนักศึกษาวิทยาการต่างๆ แก่ราชนิกูลหรือหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ในสมัยนั้น ตามบันทึกในพงศาวดารมีหลักฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชขณะเมื่อมีพระชันษา ๑๒ ปี ทรงเคยมาศึกษาศิลปวิทยาการที่ตักศิลาแห่งนี้ โดยมีฤๅษีสุทันตะเป็นพระอาจารย์

 

ท้าวหิรัญพนาสูร (อสูรฤๅษี)

เรื่องราวของท้าวหิรัญพนาสูรปรากฏขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า “หิรัญพนาสูร” แปลว่า เทพาสูรผู้เป็นใหญ่แห่งป่า ในปี ๒๔๔๙ ขณะยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ซึ่งเส้นทางในสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าเขา ภยันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ ขณะเมื่อทรงจะออกจากอุตรดิตถ์ ข้าราชบริพาลที่ตามเสด็จรู้สึกหวั่นวิตกต่อภยันตราย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤาอสูรอันเป็นสัมมาทิฏฐิคอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวงมิให้มากล้ำกลายพระอง๕และบริวารผู้ตามเสด็จได้ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย

ในตอนกลางคืน ปรากฏมีข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเกิดนิมิตฝันเห็นบุรุษผู้หนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ล่ำสัน บอกนามว่าคือ “ท้าวหิรัญ” เป็นอสูรแห่งป่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ จะคอยดูแลปกป้ององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชบริพารในขณะเดินทาง จึงทรงโปรดฯ ให้ตั้งเครื่องสังเวยในป่าริมพลับพลานั้น และเมื่อทรงเสวยก็จะแบ่งพระกระยาหารไปตั้งเป็นเครื่องเซ่นเสมอ ปรากฏว่าการเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองพายัพครั้งนั้น ขบวนเสด็จปราศจากภยันตราย และปลอดภัยจากไข้ป่าต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์

ดังนั้น การเสด็จประพาสในคราวต่อมา ข้าราชบริพารจึงทำพิธีอัญเชิญท้าวหิรัญพนาสูรที่ปรากฏในนิมิตตามเสด็จไปด้วยทุกครั้ง และมีผู้คนมากมายพบเห็นบุรุษโบราณรูปร่างสูงใหญ่ นั่งบ้าง ยืนบ้าง ตามขบวนเสด็จไปด้วย จนข่าวคราวร่ำลือถึงข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลตต่างๆ ทำให้ผู้คนเลื่อมใสท้าวหิรัญพนาสูรมาแต่ครั้งนั้น และโปรดให้หล่อรูปท่านท้าวประดิษฐานไว้ประจำพระราชวังพญาไท

รูปปั้นท้าวหิรัญพนาสูรจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพกราบไหว้สืบมา แม้หลวงปู่โง่น โสรโย แห่งวัดพระบาทเขารวก พระผู้อยู่เหนือโลก ก็ยังเคยพบท้าวหิรัญพนาสูรมาแล้ว โดยครั้งนั้นมาในรูปของพรานป่า ผู้รับอาสาดูแลหลวงปู่โง่นขณะเดินทางไปยังภาคเหนือ

 

ฤๅษีพูพูอ่อง - พระอาจารย์ของพระเจ้าบุเรงนอง

ฤๅษีพูพูอ่องเป็นชาวพม่า กล่าวกันว่าท่านเป็นพระอาจรย์ตนหนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง จอมกษัตริย์ของพม่า ในสมัยนั้นท่านฤาษีพูพูอ่องได้สำแดงฤทธานุภาพเหาะขึ้นไปนมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ให้ประชาชนชาวพม่าได้เห็นเป็นขวัญตาจนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองบังเกิดพระราชศรัทธาถวายพระองค์เป็นศิษย์ และพระเจ้าบุเรงนองได้ทรงสร้างพระเครื่องรูปพระมหามัยมุนี ด้านหลังเป็นรูปฤๅษีพูพูอ่องกำลังเหาะอยู่บนอากาศ แล้วนำมาให้ฤๅษีพูพูอ่องปลุกเสก เพื่อนำไปแจกทหารที่ไปราชการสงคราม ส่วนหนึ่งได้นำไปบรรจุไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งในเขตประเทศพม่า

ต่อมาได้มีชาวบ้านไปพบกรุพระนี้เข้า จึงมาบอกให้หลวงพ่ออุตตมะทราบเรื่อง เนื่องจากหลวงพ่ออุตตมะได้บอกให้คนช่วยค้นหามานานแล้ว หลวงพ่ออุตตมะจึงนำพระเครื่องที่ร้างโดยพระเจ้าบุเรงนอง และปลุกเสกโดยฤๅษีพูพูอ่องแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์ จึงเป็นที่มาของ “พระยอดขุนพลบุเรงนอง” ที่ทรงอิทธิคุณสูงส่ง เป็นที่เสาะแสวงหาของนักสะสมนิยมพระเครื่องทั่วไปในเวลานี้ แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะได้ครอบครอง

ในปัจจุบันยังมีหลายท่านเชื่อว่า ฤๅษีพูพูอ่องยังมีชีวิตยืนยาวเป็นอมตะด้วยอภิญญาฤทธิ์ อยู่ในป่าแถบชายแดนพม่า ยังเร้นกายถ่ายทอดวิชาและคอยปกปักรักษาว่านยาและปกป้องคุ้มครองเหล่าศิษย์เสมอมา

ตำนานฤๅษีโภคทรัพย์  ๕ พระองค์

(โดย..พระครูสังฆรักษ์วีระ ฐานวีโร วัดราชสิทธาราม)

ในสมัยอดีตกาล พระเจ้าจักพรรดิทัลหเนมิ เมื่อจักแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนไป พระองค์จึงทรงผนวชเป็นฤๅษี พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก เมื่อผนวชแล้วมีพระนามว่า พระราชฤๅษีจักรพรรดิทัลหเนมิ พระราชฤๅษีจักรพรรดิเคยฟังธรรมของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อผนวชเป็นราชฤๅษีแล้ว ทรงสำเร็จอนาคามีมรรคทานาคามีผล เมื่อสิ้นชีพแล้วอุบัติอยู่ในสุธาวาสพรหมโลก

พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิทัลหเนมิ อำมาตย์และมหาอำมาตย์ทรงถือเพศเป็นฤๅษี ขณะพระราชาประพฤติจักกวัตติวัตร และคณะอำมาตย์ประพฤติธรรมเป็นประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในภายหน้า พระราชาและคณะอำมาตย์ทั้ง ๔ ประพฤติธรรมได้ ๓ วัน สรีระที่เคยทรวดทรงดี ก็กลับกลายเป็นสรีระที่อ้วนพีสมลักษณะเจ้าแห่งโภคทรัพย์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิทัลหเนมิเป็นพระฤๅษีนามว่า พระฤๅษีธรรมราชาบดี

อำมาตย์ทั้ง ๔ บวชเป็นฤๅษี มีนามดังนี้ อำมาตย์คลังทอง มีนามว่า พระฤๅษีคลังทอง อำมาตย์คลังแก้วแหวนบวชเป็นฤๅษีนามว่า พระฤๅษีคลังแก้วแหวน (พระฤๅษีโภคทรัพย์) อำมาตย์คลังธัญญาหารบวชเป็นฤๅษีนามว่า พระฤๅษีธัญญาหาร (พระฤๅษีโพสพ) อำมาตย์คลังสินค้าบวชเป็นฤๅษีนามว่า พระฤๅษีคฤหบดี ฤๅษีทั้ง ๕ ตนได้ฟังธรรมจาก พระราชฤาจักรพรรดิทัลหเนมิ

พระฤๅษีทั้ง๕ เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ผู้คนทั้งหลายไปฟังธรรมจากพระฤๅษีทั้ง ๕ ตนนี้ทุกวัน ๑๕ ค่ำในจักกวัตติวัตรธรรม ธรรมที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน ธรรมที่เป็นประโยชน์ในภายหน้า ธรรมที่ทำให้ทรัพย์ไหลเข้า ธรรมที่ทำให้ทรัพย์ไหลออก เหตุแหล่งความเสื่อม เหตุแห่งความเจริญ บุคคลทั้งหลายได้ฟังธรรมจากพระฤๅษีทั้ง ๕ ตนแล้ว ย่อมมีแต่ความเจริญ ในกาลภายหลังพระฤๅษีทั้ง ๕ ตน ได้สำเร็จอานาคามีมรรคอานาคามีผล...

 

ฤๅษีพรหมนิมิต - บรมครูแห่งนิมิตฝัน (บอกเหตุล่วงหน้า)

เป็นเทพเจ้าแห่งความฝันทั้งปวง ได้เนรมิตกายลงไปเข้าฝันบอกเหตุล่วงหน้าทั้งหลายให้กับมนุษย์ ความฝันเมื่อครั้งอดีตกาลจึงมักจะเป็นจริงเสมอ

ครั้งหนึ่งมีมานพผู้หนึ่งได้เลี้ยงนกขุนทองเอาไว้ วันหนึ่งมานพได้ฝันไปว่ามีโจรมาปล้นบ้านและได้สังหารตนเองเสียชีวิต จึงเกิดความกลัดกลุ้มใจ ได้เล่าให้นกขุนทองที่เลี้ยงไว้ฟัง นกขุนทองจึงบินขึ้นไปพรหมโลก เพื่อให้ฤๅษีพรหมนิมิตทำการช่วยเหลือ ฤๅษีพรหมนิมิตจึงพูดว่า ด้วยประกาศิตของข้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปความฝันทั้งหลายจงไม่เป็นจริงอีกต่อไป

มานพนั้นจึงรอดพ้นจากโจรภัย นับแต่นั้นมาความฝันจึงกลายเป็นเรื่องจริงตลอดมา ด้วยความกตัญญู มานพได้ซื้อสร้อยคอทองคำมาคล้องให้นกขุนทองเพื่อเป็นรางวัล ดังนั้นนกขุนทองทุกตัวจะต้องมีสร้อยสีเหลืองที่คอ นั่นก็คือสร้อยทองที่ติดตัวนกขุนทองมาจนถึงทุกวันนี้ ฤๅษีนี้จึงได้รับนามจากพระศิวะว่า ฤๅษีพรหมนิมิต

 

ฤๅษีพรหมจุลี - บิดาของท้าวพรหมทัต

เป็นพระบิดาของท้าวพรหมทัต ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนครกามปิลย์ ท้าวพรหมทัตเป็นมานัสบุตร ซึ่งเกิดขึ้นด้วยใจของพระจุลีพรหมฤๅษี ท้าวพรหมทัตได้ถอดถอนคำสาปของพระพายที่สาปให้ราชธิดาสาวทั้ง ๑จจ นางของฤๅษีกุศนาภ ที่กลายเป็นหลังค่อมทั้งหมด ให้กลับกลายเป็นราชธิดาผู้มีรูปโฉมงดงามเหมือนดังเดิม

 

ฤๅษีพรหมจักร

เป็นพรหมฤๅษีที่ยิ่งใหญ่อีกตนหนึ่ง มีเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ทั่วไป คอยค้ำจุนโลกให้มีความร่มเย็นเป็นสุข

 

ฤๅษีพรหมประสิทธิ์

ฤๅษีผู้ชาญพระเวทมนตรานานัปการ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้กับมนุษย์ เทวดา คนธรรพ์ วิทยาธร อสูร รากษส ฯลฯ จึงได้รับนามจากพระศิวะว่า พรหมประสิทธิ์

 

ฤๅษีพรหมโลก

คือพรหมฤๅษีที่มีบารมีสูง มีอิทธิฤทธิ์มากมาย เป็นฤๅษีบำเพ็ญตบะบารมีอย่างแน่วแน่อยู่ในโลกมนุษย์ แล้วบรรลุฌานชั้นสูง เมื่อดับขันธ์จากโลกมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิดอยู่บนพรหมโลก

 

ฤๅษีพรหมมินทร์

ถือสันโดษและเคร่งครัดในการบำเพ็ญฌาน เป็นพี่ชายแท้ๆ ของฤๅษีพรหมปรเมศ

 

ฤๅษีชนกจักรวรรดิ - ราชบิดาบุญธรรมของนางสีดา

เป็นกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ได้สละราชสมบัติออกมาบำเพ็ญเป็นฤๅษีอยู่ในป่า วันหนึ่งเมื่อออกจากฌานแล้วลงไปสรงน้ำในบึง เห็นดอกบัวใหญ่ลอยน้ำมา ก็มีความสงสัยจึงเก็บขั้นมาจากน้ำ เห็นผอบแก้วอยู่ในดอกบัว เมื่อเข้าฌานดูจึงเห็นเด็กหญิงที่มีบุญญาบารมีอยู่ในผอบนั้น ฤๅษีจึงประทานนามให้ว่า สีดา แล้วก็กลับเข้าไปครองราชย์ที่เมืองมิถิลาตามเดิม โดยสถาปนาสีดาเป็นราชธิดาบุญธรรม

 

ฤๅษีไชมินี - บรมครูผู้รอบรู้ธรรมและรู้ภาษาวิหคทุกชนิด

พระฤๅษีตนนี้มีความรอบรู้ในธรรมและมักจะนำมาแสดงเป็น ปุจฉา-วิสัชนา เพื่อให้มนุษย์โลกรู้ธรรมและนำไปปฏิบัติได้ มีความสามารถพิเศษคือ รู้ภาษาวิหคทุกชนิด สามารถพูดคุยกับวิหคได้ตลอดเวลา

 

ฤๅษีมารกัณเฑยะ - ผู้รจนาคัมภีร์มารกัณเฑยะปุราณะ

อีกนามหนึ่งคือ มารกัณไฑย เป็นผู้แต่งคัมภีร์มารกัณเฑยะปุราณะ ที่เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของวิหคแสนรู้ที่รู้จักผิดชอบชั่วดี เมื่อมีคำปุจฉา – วิสัชนาของฤๅษี วิหคแสนรู้ก็ได้มาตอบปัญหาข้อธรรมของฤๅษี ฤๅษีมารกัณเฑยะเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงได้จดจำข้อธรรมต่างๆ มาบันทึกเรียบเรียง แสดงไว้เป็นคัมภีร์และนิทานอันเป็นกรณีศึกษาให้กับชนรุ่นหลังสืบมา

 

ฤๅษีหิมพานต์ (หิมวัต) - บิดาของพระอุมาเทวี

คือ พระหิมวัต พ่อตาของพระศิวะ มีชายาชื่อ เมนะกา มีพระธิดาชื่อ พระคงคา และพระอุมา เป็นผู้มีบารมีมาก มีเมตตาธรรมสูง ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นที่ทุกข์ร้อน บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าหิมพานต์ เทือกเขาหิมาลัย

 

ฤๅษีทุรวาส - ผู้สาปพระอินทร์ให้เสื่อมฤทธิ์

มีอิทธิฤทธิ์และมีวาจาสิทธิ์ ขณะเข้าไปในป่าหิมพานต์เพื่อหาผลไม้ ได้พบเทพธิดาที่สวยงาม นางได้นำพวงมาลัยดอกไม้สวรรค์ถวายแด่ฤๅษี เป็นการบูชา ดอกไม้สวรรค์ส่งกลิ่นหอมอบอวล ทำให้มีฤๅษีลืมตัว เที่ยวร้องเพลงและร่ายอย่างสนุกสนาน บังเอิญพระอินทร์ทรงช้างผ่านมา ฤๅษีจึงได้ถวายดอกไม้นั้นให้กับพระอินทร์ พระอินทร์รับแล้วนำมาวางไว้บนหัวช้างเอราวัณ เมื่อช้างเอราวัณได้กลิ่นดอกไม้สวรรค์แล้วก็เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ใช้งวงจับพวงดอกไม้นั้นมาเหยียยจนแหลก

ฤๅษีทุรวาสเห็นแล้วก็โกรธ เข้าใจว่าพระอินทร์หยามหมิ่นตน จึงสาปให้พระอินทร์และเทวดาบนชั้นดาวดึงส์เสื่อมถอยฤทธาบารมี เมื่อใดที่สู้รบกับพวกอสูร ทั้งพระอินทร์และเทวดาก็จะต้องพ่ายแพ้ทุกครั้งไป ทั้งพระอินทร์และเทวดาก็ตกใจ ขอโทษฤๅษีเป็นการใหญ่ ฤาษีไม่ยกโทษให้แล้วก็เหาะจากไป นับแต่นั้นมาพระอินทร์และเทวดาจึงไม่มีฤทธิ์มากเหมือนดังแต่ก่อน เมื่อรบกับอสูรทุกครั้งก็พ่ายแพ้ตลอด ต่อมาพระนารายณ์จึงคิดแก้ไขให้มีการกวนน้ำอมฤตขึ้นเพื่อฟื้นกำลังของพระอินทร์และเหล่าเทวด

 

ฤๅษีสุขวัฒน์ - ผู้คนพบไผ่สีสุก

สวมชฎาดอกลำโพงสีอิฐแดง บำเพ็ญตบะอยู่ที่เชิงเขาไกรลาส จนกระทั่งมีต้นไผ่เกิดขึ้นและโตเร็ว มีความสูงเทียมเท่าเขาไกรลาส ฤๅษีสุขวัฒน์จึงรีบตัดต้นไผ่นั้นแล้วรีบนำไปถวายพระศิวะ โดยเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ พระศิวะทรงพอพระทัย นำลำไผ่นั้นมาทำเป็นคันศร แล้วพระองค์ก็ทรงแผลงศรด้วยกำลังของพระองค์ คันศรนั้นได้หักเป็นสองท่อน จึงตกพระทัยแล้วหยิบปลายคันศรขว้างลงไปยังผืนโลก ก็บังเกิดเป็นลิงชื่อ นิลเกสร หรือชามพูวราช ขึ้นมา ต่อจากนั้นก็ยกโคนคันศรข้างลงไปยังแผ่นดินอีกครั้ง บังเกิดเป็น พญาเวรัมภ์อสูร

เวลาผ่านไปเนิ่นนาน วานรและอสูรที่เกิดขึ้นจากคันศรของพระศิวะ ต่างก็เข้าเฝ้าและบังเอิญพบกันโดยมิได้นัดหมาย พระศิวะทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปวานรกับอสูรจะสู้รบกัน โดยฝ่ายวานรจะเป็นฝ่ายมีชัย เพราะเกิดจากคันศรท่อนปลาย ส่วนอสูรจะต้องพ่ายแพ้ เพราะเกิดจากโคนคันศรนั่นเอง สวนไม้ไผ่ที่ฤาษีนำมาถวายนั้น ต่อมาก็มีการเรียกชื่อต้นไผ่ชนิดนั้นว่า ไผ่ฤาษีสุข หรือไผ่สีสุข (สีสุก) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงฤๅษีสุขวัฒน์สืบมา

 

ฤๅษีเทวราชมุนี - ผู้รับมอบศรจากพระศิวะ

ท่านเป็นต้นราชวงศ์ของนครมิถิลา กาลครั้งหนึ่งเหล่าเทวดาทั้งหลายต่างสงสัยกันว่า ระหว่างพระศิวะและพระนารายณ์ใครจะมีฤทธิ์มากกว่ากัน จึงขอร้องให้ทั้งสองพระองค์มาประลองฤทธิ์กัน พระศิวะทรงแผลงศรของพระองค์ออกไป แต่หาทำอะไรพระนารายณ์ได้ไม่ พระนารายณ์ตวาดคำเดียวเท่านั้น ลูกศรนั้นก็อ่อนปวกเปียกลงไป เหล่าเทวดาจึงยกให้พระนารายณ์เป็นผู้มีฤทธาบารมีมาก พระศิวะก็ทรงน้อยพระทัยประทานศรนั้นให้กับฤๅษีเทวราชมุนีมาตั้งแต่บัดนั้น ก่อนจะตกทอดมายังท้าวชนกในที่สุด (ส่วนศรพระนารายณ์ พระรามได้ใช้ปราบมาร ต่อมาได้โก่งคันศรจนหัก ศรนารายณ์นั้นได้ประทานให้ฤๅษีฤจิกะ, ฤๅษีชมทัคนี (ปิดาของปรศุราม) จนกระทั่งตกมาถึงปรศุราม)

 

ฤๅษีรามเทพมุนี - ผู้ช่วยของฤๅษีวสิษฐ์

ฤๅษีผู้มีเวทมนตร์เข้มขลังมากตนหนึ่ง เมื่อครั้งที่ท้าวทศรถกระทำพิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ บูชายันต์ด้วยม้า) เพื่อขอมีพระโอรส (ขอมีบุตร) ก็ได้เชิญฤๅษีวสิษฐ์มาเป็นปุโรหิต และเชิญฤๅษีรามเทพมุนีมาเป็นผู้ช่วยปุโรหิตในพิธีครั้งนั้น แล้วในที่สุดก็สำเร็จผล พระนารายณ์ได้อวตารลงมาเป็นพระราม โดยเกิดมาเป็นโอรสของท้าวทศรถ

 

ฤๅษีอังคต (อังคตะ) - อาจารย์ของพาลี, ฤๅษีผู้มีอายุยืนยาวมาตั้งแต่กฤดายุค

สวมชฎาดอกสีลำโพงสีกรัก ยอดบายศรีหนังเสือ ฤๅษีอังคตเป็นผู้บำเพ็ญตบะธรรมได้เชี่ยวชาญ เชี่ยชาญมนตรามหาเวท เป็นอาจารย์ของพาลี กษัตริย์เมืองขีดขิน ท่านมีหน้าที่เก็บรักษาเกราะทิพย์ไว้ให้พพระรามตามคำสั่งของพระศิวะ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันตัวพระรามในการปราบปรามยักษ์ตรีบุรัม ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์ได้ทูลขอนางมณโฑ พระศิวะก็ประทานให้ ทศกัณฐ์จึงอุ้มนางมณโฑเหาะข้ามตัวพาลี จึงถูกพาลีขว้างด้วยพระขรรค์แล้วชิงเอานางมณโฑไปอยู่ด้วย ทศกัณฐ์จึงไปหาฤๅษีอังคต ขอร้องให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้พาลียอมคืนนางมณโฑมา แต่ช่วงนั้นนางมณโฑตั้งครรภ์ได้ ๗ เดือน ฤๅษีจึงใช้คาถาสะเดาะเอาบุตรในท้องของนางมณโฑออกไปฝากไว้ในท้องแพะ แล้วส่งนางมณโฑคืนทศกัณฐ์ไป เมื่อครบกำหนดฤๅษีได้นำทารกนั้นออกมา มีรูปร่างเป็นลิงและกายสีเขียวเหมือนพาลี มีฤทธิ์เดชมาก ฤๅษีจึงตั้งชื่อให้คล้ายกับตนเองว่า องคต

มีตำนานเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งมีทวยเทพ ดาบส และนักพรต พากันไปเฝ้าพระศวะ เพื่อทูลถามถึงกำเนิดแห่งอัญมณีนวรัตน์ หรือรัตนชาติทั้ง ๙ ประการ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร พระศิวะแนะให้ไปถามฤๅษีอังคต ผู้มีอายุยืนยาวมาแต่กฤดายุค ฤๅษีอังคตจึงเล่าให้ฟังว่า ในกาลก่อน ทวยเทพ ดาบส และนักพรต ประสงค์จะให้เกิดรัตนชาติทั้ง ๙ ประการ จึงขอให้มเหศักดิ์องค์หนึ่งนามว่า มหาพลาสูร สร้างรัตนชาติขึ้น มหาพลาสูรจึงบำเพ็ญตบะอดอาหาร ๗ วันก็สิ้นชีวิต เหล่าทวยเทพ ดาบส นักพรตจึงทำการพลีบูชาร่างนั้นเป็นเวลา ๗ วัน ร่างของมหาพลาสูรก็แปรเปลี่ยนเป็นแก้ว ๙ ประการสืบมาถึงทุกวันนี้

 

ฤๅษีสิงหล

ท่านชอบบำเพ็ญตบะอยู่ที่ป่าดงดิบแห่งเทือกเขาหิมาลัย ถือสันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในเรื่องภายนอก

 

ฤๅษีกศยปมุนี

หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน ตามคัมภีร์พฤหทารัณยกะอุปนิษัท

สำหรับพระฤๅษีองค์นี้ก็มีอิทธิฤทธิ์และบารมีสูง ได้รับเกียรติจากท่านท้าวทศรถเชิญให้ท่านมาร่วมกระทำพิธีอัศวเมธในครั้งนั้นด้วยอีกตนหนึ่ง

 

ฤๅษีคิชฌกูฎ - บรมครูหมอยาอีกตนหนึ่ง

เดิมเป็นพวกแทตย์ หรือทานพ สืบเชื้อสายมาจากพระกัศยปะเทพบิดร (กัศยปมุนี) บำเพ็ญอยู่ในป่าลึกบนเขาคิชฌกูฎ ใกล้กับป่าหิมพานต์ ท่านมีนิสัยดุ เสียงดัง แต่จิตใจดี ถ้าหากว่าโกรธแล้วจะมีนัยน์ตาแดงก่ำ เป็นหมอยาที่เก่งในทางสมุนไพรและคาถาอาคมมากท่านหนึ่ง

 

ฤๅษีสิงขร

ฤๅษีสิงขรท่านเคร่งครัดในการบำเพ็ญฌานบารมีอยู่ในยป่าทึบที่ไม่ค่อยมีเทวดาหรือมนุษย์เข้าไปรบกวน

 

ฤๅษีนาวัน - ผู้สถิตอยู่ ณ ดงพญาเย็น สยามประเทศ

เป็นฤๅษีที่มีเมตตาธรรม บำเพ็ญตบะบารมีอยู่ในป่าดงพญาไฟ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งผีโป่ง ผีป่า ไข้ป่า ล้วนแต่อันตรายทั้งสิ้น แต่ฤๅษีนาวันท่านก็มิได้เกรงกลัวแต่ประการใด ยังคงบำเพ็ญต่อไปด้วยความมุ่งมั่น กาลต่อมาดงพญาไฟก็ถูกเปล่ยนชื่อมาเป็นดงพญาเย็น

 

ฤๅษีไพรวัน

เป็นฤๅษีผู้มีเมตตาธรรมสูง ชอบช่วยเหลือมนุษย์หรือสัตว์ ท่านจำศีลภาวนาอยู่ที่ป่าหิมพานต์

 

ฤๅษีโกมุท

มีกำเนิดมาจากเกสรของดอกบัวที่ผุดขึ้นจากแม่น้ำคงคา มีบุญบารมีสูง ทั้งเวทมนต์ก็เชี่ยวชาญ สถิตอยู่ในป่าหิมพานต์

 

ฤๅษีสัตตบงกช

จำศีลอยู่ในอาศรมชายป่าหิมพานต์ ด้านเชิงเขาสัตตบงกช จึงได้ชื่อว่า ฤๅษีสัตตบงกช สำเร็จเป็นผู้วิเศษ สามารถเข้าฌานและอดอาหารได้นานเป็นปีๆ จนกระทั่งหนวดถึงเข่า เคราถึงนม ผมถึงเท้า ท่านมีพระเวทคาถาอาคมอันเข้มขลัง มีอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์มากมาย

 

ฤๅษีอคัสตยะ

หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน ตามคัมภีร์ไชมินียพราหมณะ เป็นฤๅษีเก่าแก่ มีมาแต่ครั้งไตรดายุค เป็นฤๅษีชั้นพรหมผู้หนึ่ง จะต้องบำเพ็ญตบะจนกว่าพระนารายณ์จะอวตารลงมาเป็นพระรามแล้วเดินทางมาถึงอาศรมนั้น จึงจะกลับขึ้นไปสถิตในชั้นพรหมโลกได้

 

ฤๅษีคาวินท์

เป็นฤๅษีที่ชรามาก วันหนึ่ง วานรนิลราช บริวารของพระรามเข้ามาถึงอาศรม ในขณะที่ฤๅษีกำลังเข้าฌานอยู่ ด้วยความซุกซนของวานร มองเห็นไม้เท้าของฤๅษีวางอยู่ ก็คิดจะแกล้งฤๅษี ได้ขโมยไม้เท้าไปซ่อนไว้ เมื่อฤๅษีออกจากฌานแล้วก็หาไม้เท้าไม่พบ จึงโกรธนิลราชแล้วสาปไปว่า ไม่ว่านิลราชจะทิ้งอะไรลงไปในน้ำ ก็ขอให้ของสิ่งนั้นจมอยู่กับที่ จนกว่าจะได้รับอาสาทำงานให้กับพระราม โดยนำก้อนหินไปถมทะเลแต่เพียงผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป

 

ฤๅษีโควินท์ - ผู้ปกป้องคุ้มครองท่าวไกยเกษ

สวมชฎาดอกลำโพงสีกรัก ท่านบำเพ็ญฌานอยู่ในป่าแห่งเมืองไกยเกษ ต่อมาได้มี ท้าวคนธรรพ์ ราชาแห่งเมืองดิสศรีลิน มีพระโอรสชื่อ วิรุฬพัท ราองค์นี้ได้เดินทางมาจนถึงป่าแห่งเมืองไกยเกษ แล้วพาลเข้าตีเมืองไกยเกษเสียเลย ท้าวไกยเกษสู้ไม่ได้ จำใจต้องทิ้งเมืองหนีไปอยู่กับพระฤาษีโควินท์ ซึ่งพระฤๅษีโควินท์ได้แผ่บารมีปกป้องคุ้มครองอันตรายให้กับท้าวไกยเกษ จึงเป็นผู้มีพระคุณต่อท้าวไกยเกษเป็นอันมาก ตราบจนกระทั่งท้าวไกยเกษกลับไปครองราชย์ตามเดิม

 

ฤๅษีศรภังค์ - ฤๅษีผู้สละชีวิตเข้ากองไฟ

พระฤๅษีศรภังค์สวมชฎาดอกลำโพงสีกรัก หรือยอดบายศรีลายหนังเสือ บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าฑัณฑกะ จนสำเร็จมรรคผลเกือบจะได้ไปพรหมโลกอยู่แล้ว แต่การจะไปพรหมโลกได้ ต้องรอให้ดับขันธ์จากโลกนี้เสียก่อน ฤๅษีศรภังค์ไม่รอเวลาให้สิ้นอายุขัยไปตามธรรมชาติ กลับเดินเข้ากองไฟเผาตัวเองจนตายไป ซึ่งในชมพูทวีปสมัยก่อนนั้น เขายกย่องสรรเสริญกันเป็นหนักหนา แต่ในทางพุทธศาสนาการฆ่าตัวตายถือว่าเป็นบาปหนัก ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

 

ฤๅษีอจนคาวี, ฤๅษียุทธักขระ, ฤๅษีทะหะ, ฤๅษียาคะ - ฤๅษี ๔ ตนผู้ร่วมสร้างกรุงอโยธยา

ฤๅษีทั้ง ๔ ตนสวมชฎาดอกลำโพง เป็นฤๅษี ๔ ตนในเรื่องรามเกียรติ์ ที่ร่วมมือกันสร้างกรุงอโยธยา เดิมท่านทั้งสี่อาศัยอยู่ในป่าทวารวดี ดินแดนชมพูทวีป ได้บำเพ็ญพรตมานานนับแสนปี ต่อมาเมื่อมีการสร้างเมืองตรงอาศรมของฤๅษีทั้งสี่ พระราชาคือท้าวอโนมาตัน จึงได้นำเอาชื่อป่าและนามของฤๅษีมาผสมปนเปกัน จนกลายเป็น “ทวารวดีศรีอยุธยา” ในเวลาต่อมา

 

ฤๅษีโรมสิงห์, ฤาษีวตันตะ, ฤๅษีวชิระ, ฤๅษีวิสุทธิ - ฤๅษี ๔ ตนผู้ชุบชีวิตนางมณโฑ

พระฤๅษี ๔ ตนนี้ สวมชฎาดอกลำโพง ตำนานกล่าวว่า นางพญานาคได้สมสู่กับงูดิน ฤๅษีทั้งสี่ตนเห็นเข้าจึงใช้ไม้เคาะหลังเพื่อเตือนนางพญานาค นางเกิดความโมโหและอับอายระคนกัน ด้วยเกรงบิดาพญานาคจะล่วงรู้ความลับ จึงแอบไปคายพิษไว้ในอ่างน้ำนมที่นางแพะมาบีบน้ำนมใส่ สำหรับถวายแก่ฤๅษี ขณะนั้นนางกบเห็นเหตุการณ์โดยตลอด นางเคยได้รับแบ่งน้ำนมจากฤๅษีทั้งสี่ตน คิดตอบแทนพระคุณแห่งฤๅษี จึงยอมกระโดดลงไปในอ่างน้ำนมเพื่อรับพิษของนางพญานาค จนกระทั่งสิ้นใจตาย

เหล่าฤๅษีกลับมาเห็นนางกบตายก็สงสาร กระทำการชุบชีวิตให้ด้วยเวทมนตร์ นางกบเมื่อฟื้นคืนชีพแล้วจึงเล่าความจริงทั้งหมดให้ฟัง เหล่าฤๅษีเห็นความกตัญญูของนางกบ จึงทำพิธีเนรมิตให้นางกบกลายร่างเป็นมนุษย์เพศหญิง มีความงดงามน่าเอ็นดู มีชื่อว่า นางมณโฑ แล้วพานางไปถวายตัวเป็นบริวารของพระอุมาเทวี ต่อมาก็ได้เป็นชายาของทศกัณฐ์

 

พระอาฬารดาบสกาลามโคตร - พระอาจารย์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ละสังขารจากโลกมนุษย์ขึ้นไปเสวยสุขอยู่บนชั้นพรหมโลก เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วก็ทรงดำริที่จะไปแสดงธรรมต่ออาฬารดาบสนี้ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สั่งสอนพระองค์มาก่อน นับว่าเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ท่านอาฬารดาบสเป็นผู้ที่มีความรู้ มีปัญญา มีความสามารถที่จะรู้ได้เร็วกว่าผู้อื่น ด้วยเหตุนี้จึงคิดที่จะทรงแสดงธรรมโปรด เพื่อที่จะให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเล็งทิพย์ญานดู ก็รู้ว่าท่านพระอาฬารดาบสได้ละสังขารไปเสียก่อนหน้าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้เพียง ๗ วันเท่านั้น อาฬารดาบสได้ขึ้นไปบังเกิดเป็นอรูปพรหมอยู่ในชั้นที่ ๑๙ จึงต้องเสวยทิพย์อยู่ในอรูปพรหมต่อไปถึงแปดหมื่นมหากัปป์

 

ฤๅษีสุเมธ - อาจารย์ของไมยราพณ์ในเรื่องรามเกียรติ์

ฤๅษีสุเมธ สวมชฎาดอกลำโพง หรือเทริดยอดบายศรีลายหนังเสือ บำเพ็ญพรตอยู่ที่เชิงเขาป่าหิมพานต์ เชี่ยวชาญในพระเวทล่องหนหายตัว ผูกจิต สะกดทัพ เรียกลมเรียกฝนได้ จนไมยราพณ์ยังต้องมาร่ำเรียนพระเวทกับท่าน ฤๅษีสุเมธตนนี้เป็นผู้ทำพิธีถอดดวงใจไมยราพณ์ไปเก็บไว้บนยอดเขาตรีกูฏ เพื่อจะได้อยู่ยงคงกระพันมีอายุยืนนาน

 

ฤๅษีสมมิตร - เจ้าสำนักฤๅษีที่โด่งดัง

ได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่าจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ กลายเป็นสำนักใหญ่ที่มีผู้สนใจและฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย

 

ฤๅษีสุตะ - ศิษย์เอกของฤาษีวยาสะ ผู้ชำนาญการอ่านบทโศลกและแตกฉานคัมภีร์ปุราณะ

ผิวกายขาว ร่างกายทาด้วยขี้เถ้า ไว้หนวดเครายาวเสมออก ผมสีดำยาวเกล้าเป็นมุ่นมวย หนวดเคราสีดำ สวมอาภรณ์สีส้ม คล้องปะคำเม็ดรุทรักษะ เป็นนรฤๅษี ศิษย์เอกของมหาฤๅษีวยาสะ หนึ่งในคณะอาจารย์แห่งฤๅษีชั้นฟ้าและชั้นดิน ฤาษีสุตะเชี่ยวชาญในการขับอ่านบทโศลก และแตกฉานเชี่ยวชาญในปุราณะทั้ง ๒๗ ปุราณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิวปุราณะ

 

ฤๅษีกษิโรธ - บิดาของพระลักษมีเทวี

ฤๅษีกษิโรธมีเศียรเป็นพญานาค ผิวกายสีขาวนวล สวมอาภรณ์และเครื่องประดับสีขาว คล้องประคำไข่มุกสีขาว เป็นฤๅษีในชั้นเทพ เป็นบิดาของพระลักษมีเทวี ชายาของพระนารายณ์ เป็นบรมครูแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติอันมากมาย ซึ่งธิดาของท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นเทวีแห่งความมั่งคั่งด้วยเช่นกัน

 

ฤๅษีศิลาทะ - บิดาของฤๅษีนนทิ

ฤๅษีศิลาทะมีรูปร่างสูงใหญ่และแข็งแรง ผิวแดง หนวดเคราดกดำ คล้องประคำเม็ดรุทรักษะ สวมอาภรณ์สีเหลือหรือส้ม ไว้ผมยาวสีดอกเลา แล้วมุ่นขมวดเป็นมวยผม จัดเป็นนรฤๅษี เป็นบิดาของฤๅษีนนทิ หรืออีกนามหนึ่ง พระนันทิเกศวร หัวหน้าคณะปติเทวาของพระศิวะ ฤๅษีศิลาทะได้รับการยอมรับว่ามีบุตรอันยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ เป็นอภิชาตบุตรที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้

 

ฤๅษีภฤคุ - ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ไตรเพท, เป็นหนึ่งในปชาบดี

เป็นหนึ่งในสิบปชาดี อยู่ในลำดับที่ ๙ เจนจบไตรเพท ชอบท่องเที่ยวแสวงหาความรู้อยู่ในสากลจักรวาลอยู่เป็นนิจ ข้อผิดพลาดเพียงประการเดียวของฤๅษีภฤคุก็คือ ตอนไปเที่ยวยังนาคพิภพหรือเมืองบาดาล เกิดไปชอบแทตย์สาว ที่มีใบหน้าสวยงามและมีคู่ครองอยู่แล้ว จึงได้ลักพาตัวไป ต่อมาแทตย์หนุ่มได้มาตามตัวคู่ครองคืน โดยอาศัยไหว้วานพระอัคนีให้ช่วยตามจนพบ

 

ฤๅษีปุลัสตยะ (เปาลัสตยัน, ท้าวจตุรพักตร์) - บิดาของท้าวลัสเตียนในเรื่องรามเกียรติ์

ในรามารยณะบอกว่า ฤๅษีปุลัสตยะเป็น ๑ ในฤๅษี ๗ ตน และเป็นฤๅษีชั้นพรหม มีอีกนามว่าท้าวจตุรพักตร์ ผู้ครองนครลงกาองค์ที่ ๑ มีชายาชื่อ นางมลิกา มีบุตชื่อ “วิศรวะ” หรือ “ท้าวลัสเตียน”

 

ฤๅษีอัลลกัปปกะ - บรมครูแห่งวิชาโหราศาสตร์

เป็นบรมครูผู้เชี่ยวชาญในหราศาสตร์อีกท่านหนึ่ง และมีมนตร์ดีดพิณที่สามารถบังคับช้าง “หัสดีกันต์” ซึ่งได้ถ่ายทอดให้กับพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพี เมื่อสมัยพุทธกาล

 

ฤๅษีทะธิวา

เดิมเป็นพ่อค้าที่ชอบเดินทางค้าขายไปยังทวีปต่างๆ แล้วเกิดมรสุมเรือแตก จึงเกาะขอนไม้ลอยไปติดเกาะแห่งหนึ่ง ได้ขึ้นไปบนเกาะนั้น แต่ก็ไม่เห็นหนทางที่จะกลับถิ่นกำเนิดเดิมได้เลย จึงบำเพ็ญตนเป็นฤๅษีอยู่ในเกาะกลางทะเลนั้นเป็นเวลานานแสนนาน จนกระทั่งบรรลุฌานขั้นตน จากนั้นได้บำเพ็ญตบะต่อไป เพื่อหวังสำเร็จฌานในขั้นสูงขึ้นไป โดยหวังจะได้กลับคืนถิ่นเดิมไม่วันใดก็วันหนึ่ง

 

ดาบสสินีหน้ากวาง (สีดา)

ฤๅษีตนนี้เป็นเพศหญิง จำเดิมแต่พระรามสังหารทศกัณฐ์แล้ว ก็รับนางสีดามาอยู่ในอโยธยา นางอดูลปีศาจ เป็นญาติกับทศกัณฐ์ มีใจเจ็บแค้นพระรามกับนางสีดา ได้แปลงกายเป็นนางงามเข้ามาถวายตัวเป็นข้างช่วงใช้นางสีดา แล้วก็หาอุบายให้นางวาดรูปทศกัณฐ์ จนกระทั่งพระรามมาเห็นเข้าก็พิโรธ สั่งให้พระลักษณ์นำเอานางสีดาไปประหาร แล้วควักเอาดวงใจมาให้ดู พระลักษณ์ฟันด้วยพระขรรค์บังเกิดเป็นพวงดอกไม้ทิพย์คล้องคอนางสีดา พระลักษณ์จึงปล่อยนางไป พระอินทร์ได้เนรมิตเนื้อทรายมานอนตายให้พระลักษณ์ควักเอาดวงใจไปถวายพระราม แล้วพระอินทร์ก็ยังแปลงกายเป็นมหิงสา (ควาย) ให้นางสีดาทรงขี่ไป จนกระทั่งถึงอาศรมของฤๅษีวัชมฤค (ฤๅษีวาลมีกิ) ฤๅษีทราบเรื่องแล้วจึงให้นางสีดาถือเพศเป็นดาบสสินี โดยปลอมเป็นฤๅษีหน้ากวางเพื่อป้องกันตนเองจากอันตราย

 

ฤๅษีมุสิก

มีวิชาอาคมและตบะฌานแก่กล้า เป็นสหายของฤๅษีวาปุระมุนี เป็นผู้มุ่งมั่นในการสร้างบารมีธรรม จึงได้ออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์

 

ฤๅษีสัตยพรต

บางตำราระบุว่าท่านเป็นกษัตริย์ จึงจัดเป็นราชฤๅษี ปรากฏในเรื่อง “มัตสยาวตาร” ที่มีผู้บอกฤๅษีสัตยพรตว่าอีก ๗ วันน้ำจะท่วมโลก พระวิษณุจะส่งเรือลำใหญ่มารับ ให้นำสัตว์ไปอย่างละคู่ และนำพืชพรรณที่เป็นยาขึ้นเรือไปด้วย

 

ฤๅษีโคศกะ (ฤๅษีกกแก้ว)

ผู้บำเพ็ญอยู่ที่ป่าแห่งเมืองสิขร ตามเค้าโครงเรื่องรามเกียรติ์ ผสานตำนานพื้นบ้านของเมืองลพบุรี สยามประเทศ

 

ฤๅษีตุลสีทาส (โคสวามี)

ฤๅษีตุลสีทาสเป็นผู้เขียนเรื่อง “ศรีรามจริตมานสะ” เป็นภาษาฮินดู

 

ฤๅษีครรคยมุนี บุตรของฤๅษีอังคีรส

 

ฤๅษีกาลลาวีสิกขี

พระผู้อยู่ในกาลอันมืดมิด แต่ดำรงไว้ซึ่งแสงสว่างแห่งจิตและวิญญาณ

 

ฤๅษีมุนีภัทรเวช ราชฤๅษีผู้ควรค่าแก่การบูชา

 

ฤๅษีมหาเทวะมุนีเวช บรมครูแห่งยารักษาโรค

 

ฤๅษีสมิทธิ บรมครูแห่งวิชานวดแผนโบราณ (ดัดตน)

 

ฤๅษีพยาธิประลัย บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ

 

ฤๅษีวาลมีกิ (วัชมฤค) สวมชฎาดอกลำโพงสีอิฐแดง

 

ฤๅษีสนัตกุมาร คือฤๅษี ๔ ตน

 

ฤๅษีชมทัคนี หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน, บิดาของปรศุราม

 

ฤๅษีวสิษฐ์ หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน, ผุ้เปล่งวาจาอันควรแก่วงศ์ตระกูล

ปุโรหิตของท้าวทศรถ และเป็นบิดาของฤๅษีรามเทพมุนี

 

ฤๅษีพุทธชฏิล บรมครูแห่งวิชาแร่ธาตุ

 

ฤๅษีภรัทวาช หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน

 

ฤๅษีอัตริ หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน

 

ฤๅษีวิศวามิตร หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน

 

ฤๅษีอคัสตยะ หนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน ตามคัมภีร์ไชมิณียะพราหมณะ

 

ฤๅษีหลี่เจ๋ง เป็น ๑ ใน ๘ อรหันต์ที่โด่งดังของจีน

พระฤๅษีตนนี้เป็นนักพรตชาวจีน ต่อมาได้สำเร็จเป็นเซียน (อรหันต์) เป็น ๑ ใน ๘ เซียนที่โด่งดัง

 

ฤๅษีสุนาขยาติ (ฤๅษีหน้าสุนัข) เป็นศิษย์ของฤๅษีนารอท

 

ฤๅษีหน้าแมว เป็นศิษย์ของฤๅษีนารอท

 

ฤๅษีประตาภา (ฤๅษีหน้ากวางอีกตนหนึ่ง)

 

ฤๅษีอุตริ (ฤๅษีหน้าลิง)

 

ฤๅษีสุติกษณะ (ในรามเกียรติ์เรียก สุทัศน์)

 

ฤๅษีมาฆะ

 
ที่มา:  คัดลอกจากหนังสือ ตำนานพระฤๅษี บรมครูแห่งศาสตร์วิชา โดย อาจารย์ทศพล จังพานิชย์กุล
 
ฤาษี  ตำนานพระฤๅษี  ฤๅษี  ตำนานพระฤาษี  ฤาษี 108  ประวัติพระฤาษี 
 
รายนามพระฤๅษี ๑๐๘
เมื่อ:  1/1/2016 2:43:00 PM    เปิดอ่าน: 11,139    ความเห็น: 0
 
 
ตำนานพระฤๅษี
เมื่อ:  1/1/2016 6:13:00 PM    เปิดอ่าน: 1,479    ความเห็น: 0
 

 
 
 
Copyright 2015
 
 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | ทำเนียบวัตถุมงคล|คณะโหราจารย์ | คณะที่ปรึกษา | ดูดวงสด | คลิปรายการ | เรื่องเล่าจาก อ.สุชาติ | บทความทั่วไป | ติดต่อเรา

เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558

 เว็บนี้จัดทำโดยทีมงานครูกายแก้ว.com  (โดยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก อ. สุชาติ รัตนสุข)