Copyright 2015

 
 

 
 
New Page 1
   ทำเนียบวัตถุมงคลทั้งหมด
   วัตถุมงคลมาใหม่ 
   (ของเก่า ของสะสม) 
   วัตถุมงคลมาใหม่
   (ของใหม่) 
** แนะนำวัตถุมงคล ** 

หมวดครูกายแก้ว

   องค์บูชา
   วัตถุมงคล
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดย อ.สุชาติ รัตนสุข

   เทพเทวะ (องค์บูชา)
   เทพเทวะ (วัตถุมงคล)
   ฤาษี  มหาฤาษี
   เครื่องราง ของขลัง
   เครื่องประดับ
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดย เกจิอาจารย์ชื่อดัง

   พระกริ่ง
   พระกรุ
   ผ้ายันต์
   108 เกจิอาจารย์ดัง ยุคอินโดจีน
   พระแชมป์
   อื่นๆ

วัตถุมงคลโดยเทวสถานอื่นๆ

   อื่นๆ
[เว็บอัพเดทเมื่อ: 4/8/2563]
 
Flag Counter
 
 

 

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

  เมื่อ:  11/4/2015 1:10:04 PM    เปิดอ่าน: 2,092   
 
 
ประวัติ...หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก (จง พุทฺธสโร) จ.พระนครศรีอยุธยา
 

 

ชาติภูมิ

หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ท่านมีนามเดิมว่า “จง” กำเนิดมาในตระกูลชาวนาในท้องที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งคนดีศรีอยุธยาอีกคนหนึ่ง ที่ทั่วสรรพางค์กายล้วนเต็มเปี่ยมด้วยเลือดนักสู้ สมชาติชายไทย บิดาท่านมีนามว่า นายยอด มารดานามว่า นางขลิบ ซึ่งท่านทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ

1. เด็กชายจง ต่อมาคือ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นบุตรคนโต
2. เด็กชายนิล เป็นคนรอง ต่อมาคือพระอธิการนิล เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน
3. เด็กหญิงปลิก เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว

สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า ได้กำเนิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ณ วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415 และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้

เข้าวัด....อยู่วัด

ชีวิตของหลวงพ่อจง พุทธัสสโรในวัยเด็กไม่มีสิ่งใดผันแปร คงเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ราบเรียบดังเช่นน้ำในอ่างดังเช่นที่กล่าวมาแต่ต้น จนกระทั่งอายุได้ 12 ปี ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น คือทางพ่อแม่มีความเห็นถึงอุปนิสัยของเด็กชายจง บุตรชายคนโตตรงกันว่า เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด รักชอบในอันที่จะไปวัดมากกว่าที่เที่ยวเตร่หาความสนุกในที่ใด ๆ ทั้งหมด

เวลาต่อมา เด็กชายจงจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน อันเป็นวัดใกล้บ้าน ที่เด็กชายจงเคยไปมาหาสู่อยู่เสมอนั่นเอง และนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งโรคหูอื้อ ตาฝ้าฟาง ที่เป็นเรื้อรังมานานปีกลับหายไปจนหมดสิ้น สามเณรจงกลับมีสุขภาพสมบูรณ์พลานามัยดีมาก เป็นสุขอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ดุจเป็นนิมิตให้ทราบว่า ท่านจะต้องครองเพศมีชีวิตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปตลอดชีวิต สมดังพุทธอุทานที่ว่า....สาธุ โข ปพพฺชชา...การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ

ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ) เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ” และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง

เรียนวิชาอาคม

ชีวิตของหลวงพ่อจง หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ได้ปรากฎเหตุอันน่าแปลกมหัศจรรย์เด่นชัดขึ้น เพราะนอกจากจะหายป่วยหายไข้แล้ว เมื่อได้มาศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมะ คือได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา พร้อมทั้งฝึกฝนในด้านการเขียนอ่านอักษรทั้งไทยและขอมจากท่านพระอาจารโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระภิกษุจงได้แสดงออกถึงความในอัจฉริยะ ด้วยการเรียนรู้จดจำสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาอย่างแม่นยำและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง จนใคร ๆ ทั้งหลายที่รู้พื้นความเป็นมาต่างพากันอดแปลกใจสงสัยเสียมิได้ว่า “เอ๊ะ..ทำไมภิกษุจงจึงมิยักงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญา เหมือนกับบุคลิกที่อ่อนแออมโรค ที่ส่อแสดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบหรืออับ เรียนรู้จดจำอะไรไม่แม่นยำ” และยิ่งเพิ่มความแปลกมหัศจรรย์แปลกไกลไปกว่านั้น ภายหลังจากที่ได้กระจ่างแจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือพอสมควรแล้ว พระอาจารย์โพธิ์ที่เล็งเห็นแววว่าน่าจะเป็นไปได้ของพระภิกษุจง ได้ให้การถ่ายทอดวิชาในด้านเวทวิทยาคมที่ท่านเชี่ยวชาญจนเป็นที่เลื่องลือ ถือกันว่า พระอาจารย์โพธิ์คือยอดแห่งผู้ทรงเวทในสมัยนั้นให้กับพระภิกษุจงด้วย

ผลก็ปรากฎว่า พระภิกษุจงสามารถน้อมรับวิชาไว้ได้ทุกกระบวนมนต์ สำเร็จแตกฉานชนิดสิ้นภูมิผู้เป็นอาจารย์กันเลยทีเดียว และด้วยการได้รับถ่ายทอดวิชาให้ชนิดไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นภูมิรู้ใดไว้ของพระอาจารโพธิ์ จึงทำให้พระภิกษุจงได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่รวมใจ ที่พึ่งพิงของญาติโยมแทนผู้เป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา

ฝึกกรรมฐาน

การแสวงหาความรู้ของพระภิกษุจง มิได้หยุดยั้งอยู่แต่เพียงภายในวัดหน้าต่างในที่พักอาศัยเท่านั้น เมื่อเจนจบในภูมิความรู้ของพระอาจารย์โพธิ์ผู้เป็นอาจารย์แล้ว ท่านยังคงเสาะแสวงหาที่เรียนต่อไปอีก ได้รู้ได้ทราบข่าวว่าที่หนึ่งที่ใด สำนักไหนมีครูบาอาจารย์ที่ทรงภูมืความรู้ จะเป็นวิชาแขนงใดก็ดี หากเห็นว่าไม่ขัดฝืนต่อธรรมวินัย เป็นวิชาที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจของตน พระภิกษุจงเป็นไม่ลดละที่จะหาทางไปฝากตนเป็นศิษย์เรียนวิชาด้วย หนทางที่ไกลแสนไกล ระหว่างทางล้วนมีแต่ความยากลำบากต้องฝ่าฟันในอุปสรรคและเสี่ยงต่อภยันตรายนานาสารพัดอย่าง มิใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งเปลี่ยนวิถีความตั้งใจในการเรียนรู้หาวิชาของภิกษุจงได้ สองเท้าท่านคงย่ำไปจนถึงทุกสำนัก แล้วก็กลับคืนมาพร้อมความสำเร็จทุกแขนงวิชาแห่งสำนักนั้น ๆ ทุกครั้งคราวไป อย่างเช่นการไปเรียนวิชาฝ่ายกรรมฐาน กับพระอาจารย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่ที่แตกฉานในสมถะวิปัสสนากรรมฐานท่านหนึ่งในยุคสมัยนั้น

พระภิกษุจงได้ไปฝากตัวหมั่นศึกษาพากเพียรเรียนวิชาด้วยอิทธิบาทที่แก่กล้าเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในภูมิธรรมจากผู้เป็นอาจารย์ จึงได้เดินทางกลับสู่วัดหน้าต่างใน

เป็นเจ้าอาวาส

ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่นจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์ แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้นทุกข์ ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้

วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานานุรูป ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน

ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า พระภิกษุจง พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก แทนท่านพระอาจารย์อินทร์ พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์ จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง พระอาจารย์เห็นชอบ พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา

อยู่อย่างพระ

พระภิกษุจง พุทธัสสโร เมื่อมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกแล้ว ก็ถูกขนานนามเป็น “หลวงพ่อจง” ซึ่งเป็นการเรียกขานด้วยความเคารพเทิดทูน ซึ่งเมื่อได้รับความเคารพบูชาเช่นนั้น หลวงพ่อจงท่านก็ยิ่งพยายามปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในศีลธรรมวินัย เจริญวัตรตามฐานะที่ผู้อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพบูชาพึงจะกระทำตามสิกขาบท เฉพาะที่เกี่ยวกับชาวบ้านท่านได้สำแดงจิตอัธยาศัย แผ่ไมตรีโอบอ้อมอารีต่อทุกบุคคลไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร จะยากดีมีจนอย่างไร หรือแม้แต่เป็นคนถ่อยชั่วจนชื่อว่าเป็นพาลชนจะเข้าหารือขอร้องให้ช่วยงานช่วยกิจธุระหรือช่วยทุกข์ หรือนิมนต์ให้ไปโปรดที่ไหน ไม่ว่าหนทางใกล้ไกลอย่างไร ท่านเป็นยอมรับยินดีกระทำธุระปลดเปลื้องบำเพ็ญกรณีให้ผู้มาขอได้รับความสุขตามปรารถนาอยู่เสมอ ทำตามกำลังปัญญาของท่านโดยควรแก่ฐานานุรูปและกาลเทศะด้วยความเต็มใจอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส

อากัปกิริยาของหลวงพ่อจงที่ปรากฎให้ทุกคนเห็น จะไม่มีการอำอึ้งขึ้งโกรธ แสดงความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือแม้การตั้งแง่อิดออดแต่อย่างใดเลย ทุกคนที่ไปพบไปหาจะสัมผัสกับความเมตตา ความยิ้มแย้มยินดีทุกครั้ง

หลวงพ่อจง มองคนทุกชั้นว่าเหมือนกัน และเท่าเทียมกันโดยสภาพแห่งมนุษย์ ไม่มีชั้นวรรณะ ท่านต้อนรับปราศรัยด้วยจิตใจวาจาและเครื่องต้อนรับอย่างเดียวกัน ไม่มีการตั้งเก้าอี้ หรือลาดพรมปูเสื่อเพื่อท่านผู้นั้น ชั้นนั้นชั้นนี้ กุฏิหลวงพ่อจงเปิดอ้าไว้ต้อนรับทุกคนตลอดเวลา หลายคนเคยปรารภว่า มานมัสการหลวงพ่อจงแล้วน่าเลื่อมใสจริง ๆ ท่านเป็นพระแท้ไม่มียศ ไม่มีเกียรติ ไม่ติดอามิสใด ๆ เลย แม้กระทั่งน้ำชา

หลวงพ่อเป็นบรรพชิตที่เหมาะสมแก่คนทุกชั้น ไม่มีคำว่า “ขนาดเราไปหาท่านแล้วเข้าไม่ถึง” โดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อจงท่านทรงคุณธรรมอันสำคัญอยู่สามประการ คือ

1. เมตตากรุณา หลวงพ่อจงไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น แต่ตัวของหลวงพ่อเองก็มีเมตตากรุณาประจำใจด้วยอย่างสมบูรณ์ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน ไม่เคยเห็นท่านแสดงท่าทางโกรธเคืองผู้ใด ไม่ว่าเวลาไหน ใครมาหาท่านต้องการสิ่งใดท่านจะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจและว่องไว บางครั้งแขกมาหาเป็นเวลาที่ท่านจำวัดแล้ว หลวงพ่อจงท่านยังรีบลุกจากที่จำวัดมาสงเคราะห์ให้จนสำเร็จประโยชน์

2. อธิวาสนขันติ หลวงพ่อจงท่านรับแขกตลอดเวลา ทุกเมื่อเชื่อวัน อดทนต่อความเมื่อยล้า ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็นเลย

3. ปริจจาคะ หลวงพ่อจงท่านบริจาคทุกอย่างไม่ว่าสิ่งใด ใครขออะไรแม้กระทั่งย่ามที่ท่านถืออยู่ ท่านยินดีมอบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส คุณธรรมสามประการนี้ เป็นวิหารธรรมที่หลวงพ่อจงท่านสร้างสมอยู่ชั่วชีวิตท่าน

เป็นพระทองคำ

หลวงพ่อจง เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เช่นกัน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นสหายธรรมสนิทสนมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันมาก เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน นัยว่าสองหลวงพ่อนี้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน จึงมีความสนิทสนมและต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือธรรมปฏิบัติของกันและกันมากเป็นพิเศษ

หลวงพ่อปาน มีสังฆกิจอย่างไร ต้องนิมนต์หลวงพ่อจงไปในพิธีเสมอ หลวงพ่อจงมีสังฆกิจเช่นไรก็จะต้องนิมนต์หลวงพ่อปานไปร่วมพิธีทุกครั้ง หลวงพ่อปาน ท่านมักพูดแก่ศิษย์ของท่านเองว่า พระอย่างหลวงพ่อจงนั้น เป็นทองคำทั้งองค์ พระขนาดนี้อย่า ไปขออะไรท่านนะ จะเป็นบาปหนัก เพราะแม้เทพยดาชั้นสูง ๆ ยังต้องขอเป็นโยมอุปัฎฐากเลย

ด้วยเหตุนี้ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานจึงเคารพนับถือหลวงพ่อจงมาก และท่านยังสั่งว่า “ถ้าฉันไม่อยู่ติดขัดเรื่องธรรมะ ให้ไปถามท่านจงนะ ท่านจงนี้น่ะ ท่านสอนเทวดามาแล้ว ถ้าเธอไปเรียนกับท่านจงได้ ก็นับว่าเป็นบุญของเธอ”

หลวงพ่อจง ออกธุดงค์

การปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อจง มิใช่จำเพาะอยู่แต่ภายในวัดหน้าต่างนอก ที่ท่านรับหน้าที่มาดูแลในฐานะเจ้าอาวาสเท่านั้น แม้ยามว่างเว้นจากกิจอันเป็นภาระตามหน้าที่ที่ศรัทธาญาติโยมมอบหมายให้ ท่านจะปลีกตัวออกไปหาความสงบสงัดยังสถานวิเวก ยังป่าเขาลำเนาถ้ำอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะในช่วงออกพรรษา การเดินทางไปฝึกจิตภาวนาของหลวงพ่อจงนั้น มักจะนิยมไปเพียงลำพัง เพราะท่านว่าเป็นการตัดภาระไม่ต้องพะวักพะวงกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ร่วมเดินทาง แต่ถ้ามีพระเณรประสงค์จะร่วมเดินทางด้วย ท่านก็มิขัดข้องแต่อย่างใด และในทุกสถานที่ทุกถิ่นฐานที่ท่านผ่านไป หากมีสถานที่สำคัญทางศาสนา ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานต่าง ๆ ท่านมักจะต้องแวะเข้าไปกราบนมัสการน้อมรำลึกเป็นพุทธสังเวชเสมอ

ฉะนั้น ไม่ว่าสถานที่สำคัญใดในประเทศ จะเป็นรอยพระพุทธบาทก็ดี พระเจดีย์ธาตุก็ดี หลวงพ่อจงท่านไปนมัสการมาจนหมดสิ้นแล้วทั้งสิ้น

บารมีทางวิทยาคม

หลวงพ่อเริ่มมีชื่เสียงรุ่งโรจน์เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เมื่อราว พ.ศ.2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นต้นมา ซึ่งช่วงเวลานั้น เป็นเวลาที่บ้านเมืองต้องการทหารผู้กล้าหาญเข้มแข็ง เพื่อรับสถานการณ์ของบ้านเมือง ปัจจัยสำคัญในการปลุกใจทหารคือ เครื่องรางของขลัง

ฉะนั้น จึงปรากฎมีผู้ไปมากราบไหว้ ขอให้หลวงพ่อประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมให้มากขึ้นทุกที ในด้านบรรพชิต ปรากฎว่า ได้มาเล่าเรียนกรรมฐานภาวนาจากหลวงพ่อมากขึ้นเป็นลำดับ กุฏิที่ท่านอยู่เดิมไม่สามารถจะเพียงพอแก่การต้อนรับแขกได้ หลวงพ่อนิล (พระอธิการนิล ธัมมโชติ) น้องร่วมสายโลหิตของท่าน ในขณะนั้นยังช่วยบริหารการพระศาสนาอยู่วัด หน้าต่างนอก พร้อมด้วยทายกทายิกา จึงรวบรวมกัปปิยภัณฑ์ที่สาธุชนบริจาคถวายสร้างกุฏิใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2479 แล้วถวายเป็นที่อยู่อาศัยของท่าน

ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. 2483 สงครามอินโดจีนอุบัติขึ้น เกียรติคุณของหลวงพ่อได้เลื่องลือไปทั่วประเทศไทย โดยได้จัดทำเสื้อแดงลงเลขยันต์ปลุกเสกด้วยวิทยาคม แจกจ่ายให้แก่ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทั่ว ๆ ไป

ด้วยอำนาจจิตตานุภาพอันทรงพลังของหลวงพ่อ บันดาลอัศจรรย์บำรุงขวัญทหารให้เข้มแข็งกล้าหาญในการสงคราม นับว่า หลวงพ่อได้มีส่วนในการบำรุงขวัญทหารไทยอยู่มิใช่น้อย

บรรเทาภัยในสงครามโลก

เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นนั้น ทางพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินเข้าโจมตีประเทศไทยหลายครั้ง จนเป็นที่หนักใจแก่ทางราชการของเรา โดยเฉพาะกองทัพอากาศที่ไม่มีกำลังอาวุธพอที่จะต่อต้านได้

ดังนั้น ทางทหารอากาศจึงไปนิมนต์หลวงพ่อจง ถึงวัดหน้าต่างนอก โดยขอให้ท่านขึ้นเครื่องบินไปโปรยผงวิเศษและข้าวตอกดอกไม้ ลงมายังพื้นดินเบื้องล่าง เพื่อพรางตาข้าศึกที่ส่ง บี 29 มาทิ้งระเบิด และเป็นที่น่าประหลาดอย่างที่สุดว่า จุดที่หลวงพ่อโปรยผงวิเศษและข้าวตอกดอกไม้นั้น แคล้วคลาดจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่มีสถานที่ใดถูกระเบิดทำลายแม้แต่น้อย นี่คือกิตติคุณที่แสดงว่า ท่านเก่งในทางแคล้วคลาดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย

สอนสั่งครั้งสุดท้าย

ครั้นต่อมาในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2508 หลวงพ่อจงได้ล้มป่วยลงเป็นอัมพาตทางด้านขวาของร่างกายหมดความรู้สึก แต่ใบหน้าของท่านยังอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใสมาก ท่านมีอาการยิ้มแย้มเหมือนไม่รับทราบความเจ็บป่วยนั้น ลูกศิษย์ลูกหาพากันห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ได้ตามนายแพทย์จากกรุงเทพฯไปรักษา ท่านพยายามห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เป็นผล ท่านบอกแก่ลูกศิษย์ว่า “ตามหมอมาก็ไม่มีประโยชน์ ป่วยคราวนี้ไม่มีวันหาย อย่าห่วงเลยนะ มันจะเจ็บ มันจะป่วย มันจะตาย ไปห้ามมันไม่ได้ ลูก ๆ ทุกคนจงจำไว้ เวลาจะเจ็บ เวลาจะป่วย เวลาจะตาย อย่าเอาจิตไปเกาะเกี่ยวเวทนา จะได้ไม่เกิดทุกข์”

นี่คือคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายของ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ที่ให้ลูกศิษย์เห็นถึงคุณวิปัสสนาญาณชั้นสูง ถึงสังขารุเปกขาญาณ จากนั้นมา ท่านก็นอนนิ่ง นาน ๆ จะหายใจสักครั้ง ทราบจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า ท่านเข้าสมาบัติอนุโลมปฏิโลมตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันอังคาร ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง อันเป็นวันมาฆบูชา

ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 เวลา 01.55 น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบเหมือนคนนอนหลับ ท่ามกลางความโศกสลดในมวลหมู่ลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

 

 

รูปหล่อหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก สามารถสักการะได้ที่ วิหารธรรม 27/87 หมู่ที่ 7 ซอยสุขสวัสดิ์ 78 แยก 6 ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

 
 
ที่มา:  Facebook ธรรมะ พระรัตนตรัย
 
หลวงพ่อจง  วัดหน้าต่างนอก  จง พุทฺธสโร 
 
หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา
เมื่อ:  1/1/2016 9:53:00 PM    เปิดอ่าน: 1,737    ความเห็น: 0
 
 
ท่านเจ้าคุณศรี (สนธ์) วัดสุทัศน์เทพวราราม
เมื่อ:  1/1/2016 9:39:00 PM    เปิดอ่าน: 1,729    ความเห็น: 0
 

 
 
 
Copyright 2015
 
 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | ทำเนียบวัตถุมงคล|คณะโหราจารย์ | คณะที่ปรึกษา | ดูดวงสด | คลิปรายการ | เรื่องเล่าจาก อ.สุชาติ | บทความทั่วไป | ติดต่อเรา

เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558

 เว็บนี้จัดทำโดยทีมงานครูกายแก้ว.com  (โดยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก อ. สุชาติ รัตนสุข)